Sponsor Link

วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

จะเป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลหรือเป็นหนี้บัตรเครดิตดี

ที่จริงก็ไม่ดีทั้งคู่ครับถ้าส่งเสริมให้เราเป็นหนี้เพราะกิเลส ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตต่างก็เป็นสินเชื่อที่ไม่ต้องการหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทางธนาคารถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นหนี้เสีย อัตราดอกเบี้ยจึงสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านที่มีบ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ดังนั้น ถ้าเรามีความคิดสมัครใจเป็นหนี้สินเชื่อแบบนี้ จะด้วยไม่มีทรัพย์หรือว่าจำเป็นจริงๆที่จะต้องใช้จ่ายกับสิ่งที่เหนือความคาดหมาย การหันไปหาบัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคลมันก็เป็นตัวเลือกหนึ่ง (หายืมเพื่อนก็ไม่ได้ ญาติก็เมิน จะออมจากเงินเดือนก็อีกนานอยู่) แต่ละแบบต่างก็มีจุดดีต่างกันไปตามภาวะการเงินของเรา

สินเชื่อส่วนบุคคลคืออะไร
เป็นสินเชื่อที่กำหนดระยะเวลากู้แน่นอน อัตราดอกเบี้ยคงตัว และการชำระเงินรายเดือนเท่าๆกัน การกู้นี้อาจจะได้เป็นเงินสดหรือไม่ก็ได้ หรือเป็นสิ่งของที่เราจำเป็นต้องใช้โดยตรงก็ได้ เช่น การซื้อสินค้าด้วยบัตรผ่อนสินค้า อัตราดอกเบี้ยสูง (ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น)

บัตรเครดิตเป็นอย่างไร
บัตรเครดิตจะให้วงเงินใช้จ่ายผ่านบัตรพลาสติกที่แสดงว่าผู้ได้รับบัตรนี้เป็นผู้ที่ธนาคารให้ความเชื่อถือด้านฐานะทางการเงิน (ส่วนเบื้องหลังก็คงเป็นเหตุผลทางการตลาด) โดยจะกำหนดวงเงินสินเชื่อสูงสุดที่เราสามารถใช้ได้ ส่วนจะได้วงเงินมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับรายได้ของเรา รวมทั้งการจ่ายเงินคืนในแต่ละเดือนจ่ายเต็มหรือจ่ายเพียงขั้นต่ำ เหมือนเอาเงินใส่ตระกร้าไว้ให้เราหยิบไปใช้ จากนั้นก็หาเงินมาใส่คืน เหมือนเงินหมุนเวียนเข้าออกในตระกร้า บางคนก็ตระกร้าใหญ่ บางคนก็ตระกร้าเล็ก เมื่อจะเลิกใช้ก็หาเงินมาใส่ให้เต็มตระกร้าแล้วคืนธนาคารไป กรณีชำระคืนแต่ละงวดไม่ครบ จะต้องเสียดอกเบี้ยอัตราที่สูง แต่ต่ำกว่าสินเชื่อส่วนบุคคลเล็กน้อย

เมื่อไหร่จะใช้สินเชื่อส่วนบุคคล
ถ้าเรากำลังเผชิญค่าใช้จ่ายที่เกินกำลังเพียงครั้งเดียวหรือนานๆครั้ง เช่น ต้องย้ายบ้านไปแดนไกล การยอมเป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลจะได้เปรียบกว่าการเป็นหนี้บัตรบัตรเครดิต  (แม้ดูเหมือนอัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่าก็ตาม) เช่น เราจะกำหนดจำนวนเงินการชำระเงินรายเดือนและระยะเวลาชำระคืนเงินได้ จะทำให้เราเห็นอนาคตข้างหน้าได้ว่าเราจะหมดหนี้ตอนใหน ในขณะที่การชำระขั้นต่ำกับบัตรเครดิตนั้นอาจจะทำให้เราติดอยู่ในกับดักกลไกการชำระเงินขั้นต่ำที่อาจจะไม่สามารถจบหนี้ได้ง่ายมาก เหมือนการทิ้งเงินเพื่อซื้อเวลาเท่านั้น แต่ยังคงเป็นหนี้บัตรอยู่ (ผมจึงเห็นว่าถ้าคิดจะปิดหนี้บัตรเครดิตแล้วควรใช้สินเชื่อส่วนบุคคล) นอกจากนี้ หากต้องการเป็นเงินสดเฉพาะกิจ ถ้าเราวางแผนให้ดีเราจะพอทราบล่วงหน้าว่าต้องการใช้เงินสดเท่าไหร่ และทราบความสามารถผ่อนคืน ถ้าสามารถผ่อนจบในเวลาอันสั้นไม่เกิน 6 เดือน  การเอาเงินจากสินเชื่อส่วนบุคคลจะมีค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมถูกกว่าการกดเงินออกามจากบัตรเครดิต เพราะการกดเงินสดจากบัตรเครดิตจะมีค่าธรรมเนียมถึง 3% ของยอดที่กดออกมา ในขณะที่สินเชื่อเงินสดบางเจ้าไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ (การกดเงินสดจากบัตรเครดิต ควรทำเมื่ออยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินจริง ๆ เช่น อยู่รหว่างเดินทางแต่ขาดเงิน ติดต่อให้ใครโอนให้ก็ไม่ทันการณ์แล้ว ประมาณนี้)

แล้วเมื่อไหร่จะใช้บัตรเครดิตได้
ถ้าเรามีค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนไม่มาก หรือสามารถจ่ายได้ครบถ้วนในเวลาอันสั้นอยู่แล้ว (หรือจ่ายได้ในแต่ละเดือน) หรือมีแผนการใช้เงินที่ชัดเจนแล้ว บัตรเครดิตจะให้ประโยชน์แก่เราอย่างมาก หลายธนาคารมีโปรแกรมแบ่งจ่ายรายเดือน โปรโมชั่นผ่อนดอกเบี้ยต่ำ (แต่อย่าเชื่อเรื่องผ่อน 0% มาก เดี๋ยวนี้เป็นเกมทางการตลาดเสียมากกว่า อาจจะไม่ใช่ผ่อน 0% จริง) ดังนั้น นอกจากจะไม่เสียดอกเบี้ยแล้วเรายังจะได้แต้มสะสมสำหรับแลกของรางวัลอีกด้วย เช่น ถ้าแม่บ้านมีค่าใช้จ่ายหลักอยู่ที่การซื้ออาหารจากตลาดสด ก็ไม่จำเป็นต้องมีบัตรเครดิตแล้วเปลี่ยนพฤติกรรมไปซื้ออาหารสดในซูปเปอร์มาร์เก็ต ที่สำคัญคือ ถ้าเรามีค่าใช้จ่ายเกินตัวแล้วเราคิดว่าสามารถจ่านขั้นต่ำได้ นั่นคือเรากำลังติดกับดักการคิดดอกเบี้ย และมีแนวโน้มจะจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าสินเชื่อส่วนบุคคลหรือบัตรกดเงินสดด้วยซ้ำ (ดูวิธีคำนวณดอกเบี้ยของบัตรเครดิตใน เทคนิคการปิดหนี้บัตรเครดิตด้วยสินเชื่อบุคคล)

วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2555

เทคนิคการปิดหนี้บัตรเครดิตด้วยสินเชื่อบุคคล

เทคนิคนี้ไม่ใช่การส่งเสริมให้เป็นหนี้สินเชื่อบุคคลเพิ่มซ้ำซ้อนกับการเป็นหนี้บัตรเครดิตนะครับ หลายท่านอาจจะเคยอ่านจากเว็บอื่น เช่น ชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ( มักเรียกกันสั้น ๆ ว่า ชมรมบัตรเครดิต) เขาจะไม่แนะวิธีนี้  และผมก็เห็นดีเห็นงามด้วย เพราะมันก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ได้ผลเหมือนกัน
ที่ผมถึงแนะนำวิธีการนี้ เพราะหลายคนก็ติดหนี้บัตรเครดิตด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป วิธีนี้มันต่างจากการโอนหนี้จากบัตรเดิมมาบัตรใหม่ตรงใหน ลองอ่านดูนะครับ

หลักการของวิธีนี้
1. อัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตอยู่ที่ 20% ก็จริง แต่เคยรู้มั้ยว่าเขาคำนวณอย่างไร และดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายมันมากกว่าสินเชื่อบุคคลที่มีอัตราดอกเบี้ย 28% แบบลดต้นลดดอกเสียอีก  เขาทำได้อย่างไร มาดูกัน
   a) สมมติเรารูด 10,000 บาท เมื่อใบแจ้งหนี้มาและเราเลือกจ่ายขั้นต่ำ  1,000 เขาจะคำนวณดอกเบี้ยจากจำนวนที่รูด ตั้งแต่วันที่รูด จนถึงวันครบกำหนดชำระ ดังนั้น ถ้าแบ็งค์ใหนมีระยะปลอดดอกเบี้ยยาวเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีจำนวนวันสำหรับคำนวณดอกเบี้ยมากท่านั้น สมมตว่ายิ่งรูดตั้งแต่วันแรกของวดแล้ว จำนวนวันที่คำนวณจะ 45 วันขึ้นไป ดังนั้นดอกเบี้ยต่ำสุดคือ   10,000 x (0.20/365) x 45 = 246 (สามารถอ่านรายละเอียดการคำนวณจาก จ่ายบัตรขั้นต่ำให้ดอกน้อยลง (อีกนิด) ตอน 2/3 ได้ในบล็อกนี้)
   b) สินเชื่อบุคคล จะคำนวณทีละ 30 วันตามจำนวนเงินต้นคงค้าง (ยกเว้นงวดแรกกับงวดสุดท้ายเพราะมันนับจำนวนที่แน่นอนไม่ได้ ขึ้นกับว่าเราไปติดต่อกู้ตอนไหน) สมมติเราขอกู้มา 10,000 บาท ดังนั้น เดือนแรกจะมีดอกเบี้ยที่ 30 วันเท่านั้น คือ 10,000 x (0.28/365) x 30 = 230
นี่คำนวณแค่ 10,000 บาทและเดือนเดียวนะครับ สมมติว่าเดือนถัดไปเราเอาบัตรไปรูดเพิ่ม ถ้าเรายังจ่ายขั้นต่ำอีก เงินที่จ่ายเขาจะเอาไปตัดดอกเบี้ยกับหนี้เก่าก่อน ดังนั้น ยอดที่รูดใหม่ ก็จะถูกคำนวณตั้งแต่วันรูดตามข้อ a)

2. กำหนดจำนวนเงินชำระหนี้สินเชื่อบุคคลแต่ละงวดจะต่ำการชำระหนี้บัตรเครดิตได้ เพราะบัตรเครดิตกำหนดชำระขั้นต่ำที่ 10% แต่สินเชื่อบุคคลกำหนดให้จำนวนงวดยาวขึ้นและจำนวนเงินต่องวดน้อยลงได้ ดูแล้ว เราอาจจะเสียดอกเบี้ยเท่าเดิมหรือมากกว่านิดหน่อย แต่มีข้อดีดังนี้
   a) สมมติเราไม่สามามารถชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำ 10% ได้ ถ้าติดต่อกันตั้งแต่ 2 งวด ก็มีแนวโน้มจะติด Black list ของเครดิตบูโร แต่ถ้าเลือกสินเชื่อบุคคลที่มีค่าใช้จ่ายต่องวดต่ำกว่า เราก็มีโอกาสรอดจาก Black list นี้มากขึ้น
   b) ถ้าค้างชำระหนี้บัตรเครดิตเกิน 2 งวด ต่อให้เราพยายามจ่ายให้มากที่สุด แต่ถ้า 2 งวดนั้นไม่ครบตามยอดชำระขั้นต่ำแล้ว บัตรเครดิตจะถูกระงับใช้ ปัญหาที่ตามมาคือช่วงถูกระงับทำอะไรไม่ได้แม้แต่จะแจ้งยกเลิก มีวิธีเดียวคือต้องจ่ายจนครบ ในระหว่างที่มีการระงับนั้น ก็ยังถูกคำนวณดอกเบี้ยและค่าติดตามต่าง ๆ คงเดิมนะครับ แต่ถ้าค้างชำระสินเชื่อบุคคล จะไม่มีการระงับอะไร เพราะเขาแบ่งเป็นงวด ๆ ไปแล้ว (แต่แน่นอนว่ามีค่าปรับ)
   c) ลดความเครียดลงกับการถูกตามหนี้หรือรู้สึกถูกคุกคามชีวิตส่วนตัว

3. บางธนาคารมีโปรโมชั่นการโอนหนี้จากบัตรเดิมมาบัตรใหม่ กรณีนี้จะไม่ช่วยอะไร เพราะเรายังคงอยู่ในวังวนการคำนวณดอกเบี้ยตามวิธีการข้อ 1.

วิธีนี้เหมาะกับคนเป็นหนี้แบบใด
1. ตั้งใจหยุดใช้บัตรเครดิต (ดังนั้น ถ้าปิดยอดบัตรเครดิตแล้ว ให้ยกเลิกบัตรเครดิตเจ้ากรรมทันที ไม่งั้นมีหวังต้องไปพัวพันกับหนี้นอกระบบตามเสาไฟฟ้าแน่นอน)
2. มีวินัยในการจัดสรรเงินสำหรับชำระหนี้สินเชื่อบุคคลในแต่ละเดือน
3. ยังต้องพึงพาเงินจากธนาคารในอนาคต เช่น ต้องเช่าซื้อบ้าน รถยนต์ เป็นต้น การรักษาเครดิตไว้ถือว่าคุ้มค่า

ข้อแนะนำสำหรับการเลือกวิธีนี้
1. ให้เลือกจากธนาคารที่มีคำนวณดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก การใช้บริการสินเชื่อบุคคลกับธนาคารที่เราเป็นหนี้บัตรเครดิตอยู่ เมื่อไปขอคำปรึกษา เรามีแนวโน้มถูกชักจูงให้ใช้บัตรเครดิตตามเดิม เช่น การขยายวงเงินให้เพื่อให้เราเป็นหนี้เพิ่ม (เพราะธนาคารต้องการดอกเบี้ยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้)
2. อย่าสนใจกับโปรโมชั่นใดๆที่มากหลอกล่อให้กู้เงินเพิ่มขึ้น ให้กู้มาเท่าที่จะใช้มาปิดหนี้บัตรเครดิตเท่านั้น
3. ไม่ควรสมัครสินเชื่อในลักษณะบัตรกดเงินสด เพราะเราจะเสียค่าธรรมเนียมการถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มเพิ่มอีกประมาณ 3%

สำหรับใครที่ยังงๆกับเทคนิคการปิดหนี้บัตรด้วยสินเชื่อส่วนบุคคลนี้ ลองอ่านภาคปฏิบัติดูครับ