Sponsor Link

วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สมัครบัตรเครดิต อันไหนดี (ตอน 2/2)


ตอนนี้ เป็นส่วนปลีกย่อยที่นับว่าสำคัญ สามารถเป็นเครื่องมือที่ช่วยบริหารการใช้บัตรเครดิตให้ดีขึ้น
ต่อจากตอนที่แล้ว เริ่มเลยนะครับ

1.       มีเงื่อนไขการยกเว้นค่ารรมเนียมรายปีชัดเจน
a.       โดยทั่วไป มักจะยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมปีแรก
b.      ปีต่อไป จะมีเงื่อนไขต่างกันไปแต่ละธนาคาร เช่น ฟรีทุกปีโดยไม่มีเงื่อนไขอะไรเลย หรือใช้อย่างน้อยกี่ครั้งต่อปี หรือใช้จ่ายผ่านบัตรอย่างน้อยกี่บาท
c.       ผมว่ามันสะดวกกว่าการที่แต่ละปีต้องโทรไปขอยกเว้น หรือขูว่าจะยกเลิกถ้าไม่ยกเว้น มันวุ่นวายชีวิต
2.       สมัครผ่านเว็บสะดวกดี เพียงเตรียมเอกสารไว้ หลังกรอกข้อมูลลงเว็บไม่กี่วัน จะมี messenger มารับเอกสารถึงที่
a.       เว็บไซต์ของธนาคารโดยตรง
b.      เว็บไซต์ตัวแทน (อาจจะมีโปรฯเพิ่มนอกเหนือที่ธนาคารให้ หรือให้คำแนะนำเพื่อมีโอกาสสมัครผ่านมากขึ้น) เลือกเอาที่เขาทำมานาน น่าเชื่อถือหน่อยละกันครับ
c.       ระวังการสมัครผ่านโทรศัพท์ของ sub contract ไม่ได้แปลว่าคนเข้ามาเป็นคนร้ายเสียหมด ประเด็นคือ เราเองก็ไม่รู้ว่าของจริงของปลอม จะหลอกเอาเอกสารเราไปแอบสมัครเอาสินเชื่อแล้วเชิดเงินเราหรือป่าวก็ไม่รู้ เป็นข่าวให้เห็นทั่วไป
d.       เตรียมเอกสารที่ขีดคาดสำเนา ลงชื่อทุกใบ และเตรียมไว้พอดีกับจำนวนบัตรที่จะสมัครเท่านั้น บางที sub contract ก็หวังได้คอมมิชชันจากยอดสมัครมาก ๆ ก็จะบอกให้เราเตรียมไว้เยอะ ๆ ไม่ต้องลงชื่อ อาสาจะเอาไปสมัครบัตรอื่นให้ วิธีนี้เปิดช่องให้ทุจริต ไม่ต่างจากเอาเอกสารเราไปแอบอ้างสมัครบัตรเครดิต แม้เราจะยกเลิกได้เมื่อไม่ใช้ แต่ถ้าถูกเอาไปใช้ก่อนล่ะ หรือถูกขโมยก่อนล่ะ งานเข้าแน่นอน (เป็นการป้องกันกลโกงที่มาจากบัตรเครดิต)
3.       ดูว่าบริการอื่นๆที่ฟรีที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารการเงิน
a.       บริการ internet banking บริการนี้จะช่วยให้เราเห็นรายการใช้จ่ายผ่านบัตรของเราโดยไม่ต้องรอใบแจ้งหนี้ นอกจากนั้น เอาไว้ทำรายการชำระบัตรเครดิตได้ด้วย
b.      บริการผูกบัญชเงินฝาก ใช้บริการ ATM บัตรเครดิตบางธนาคาร สามารถเอาบัตรเดียวกันมาทำหน้าที่เป็นบัตร ATM ได้ด้วย แต่เดิมนั้นจะไม่มีค่าธรรมเนียมเพิ่ม ภายหลังมาก้เริ่มทยอยเก็บค่าธรรมเนียมกัน  ข้อดีคือ ไม่ต้องไปเสียค่าธรรมเนียม ATM รายปี หรือจ่ายค่าทำบัตร Debit ซ้ำ ไม่ต้องพกบัตรเพิ่ม แต่มีข้อเสียคือ ถ้าบัตรหาย เราจะไม่มี ATM ไว้กดเงิน แต่ทั้งนี้ก็แล้วแต่วัตถุประสงค์การใช้งาน ธนาคารที่ให้บริการลักษณะนี้มี 

  •      ธนาคารกรุงเทพ 
  •      ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (ผูกกับบัตรกรุงศรีเฟิร์สชอยซ์เท่านั้น) 
  •      ธนาคารไทยพานิชย์ (มีค่าธรรมเนียม 200 บาท / ปี) 
  •      ธนาคารกสิกรไทย (มีค่าธรรมเนียม 200 บาท / ปี)
c.       บริการหักค่าสาธารณูปโภคอัตโนมัติ อันนี้ส่วนใหญ่มีหมด บางท่านอาจจะเคยได้ยินว่าไม่ควร เพราะจะทำให้เราไม่มีโอกาสดูค่าใช้จ่ายส่วนนี้มันมากผิดปกติหรือเปล่า แต่ผมว่า ถ้ามันต้องใช้ และต้องจ่าย เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ การให้ตัดผ่านบัญชีบัตรเครดิต ก็สะดวกกว่า ไม่มีค่าธรรมเนียมด้วย ส่วนค่าโทรศัพท์มือถือ แนะนำว่าไม่ต้องทำตัดอัตโนมัติผ่านบัตรเครดิต เพราะเป็นสิ่งที่เรามักใช้จนเพลิน เกินค่าใช้จ่ายจริง และผู้ให้บริการมือถือส่วนใหญ่ก็มีเว็บไซต์ให้บริการชำระผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยบัตรเครดิตอยู่แล้ว

ลักษณะการให้บริการบัตรแต่ละราย (เท่าที่เคยมีประสบการณ์การถือครอง) ผมถือมาหลายบัตรแล้ว บางบัตรยังไม่เคยถือครับ บางบัตรผมก็ยกเลิกไปแล้ว 


1. บัตรใบบัว: ให้วงเงินต่ำ สมัครผ่านยาก (ที่สมัครผ่านเพราะอาศัยเส้นรองผู้จัดการสาขา) ขอเพิ่มวงเงินชั่วคราวก็ได้ไม่เยอะแถมยังมีเงื่อนไขอีกว่าจะต้องซื้อสินค้า/บริการที่จำเป็นจริง ๆ เช่นจ่ายค่าหมอ ไม่ต้องหวังว่าชาตินี้เขาจะปรับวงเงินให้เอง โปรโมชั่นก็ไม่ค่อยเด่น คะแนนสะสมมีอายุแค่ 2 ปี เพราะเขาไม่เน้นลูกค้ารายย่อย แต่มันทำให้เกิดข้อดีบางด้านคือ ไม่มีการโทรมาให้สมัครประกันอะไร จ่ายช้าก็มีแต่ดอกเบี้ยจ่ายช้า (ไม่มีค่าติดตามทวงหนี้แบบโหดๆ) ถ้าใช้เกิน 5,000 บาท/ ปี ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม 

2. บัตร KTZ บัตรนี้ผมว่าใจดีสุด ขอเพิ่มวงเงินชั่วคราวง่าย ทำเรื่องแบ่งจ่ายรายเดือนก็ง่าย (เงื่อนไขน้อย) จ่ายช้ากว่ากำนดไป 6 วันก็ไม่โดนดอกเบี้ย ไม่โดนค่าติดตาม (แต่ถ้าเกินจากนั้น โดนทันที 250 บาทและค่าอื่นๆ อีกนิดหน่อย)  พิจารณาปรับวงเงินให้ไม่บ่อย (ตั้งแต่ใช้มา ปรับให้ทีเดียว 4 เท่าของเงินเดือน จากนั้นก็ไม่ปรับอีกเลย) ที่ชอบคือ ค่าธรรมเนียมรายปีฟรีตลอดชีพและคะแนนไม่มีวันหมดอายุ

3. บัตรธนาคารเมือง อันนี้โปรโมชั่นต่าง ๆ ดี แต่ทุกอย่างเป๊ะๆตามสไตล์ชาติเมกา จ่ายช้าแค่ 2 วัน มีค่าติดตามทันที และอย่าเผลอจ่ายขั้นต่ำนะ เขาจะมีวิธีคำนวณดอกเบี้ยให้มันมาก ๆ โดยเพิ่มระยะเวลากำหนดชำระเพื่อเพิ่มจำนวนวันคำนวณดอกเบี้ย (อ่านเรื่อง แนวทางการจ่ายขั้นต่ำให้ดอกเบี้ยน้อยลงทั้ง 3 ตอน แล้วจะเข้าใจ) ขอเพิ่มวงเงินชั่วคราวได้ปีละแค่ 2 ครั้ง

4. บัตรเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ ตอนนี้โอนมาธนาคารกรุงเก่าแล้ว ก็ตามสไตล์ใหม่ ตอนยังไม่ย้ายมานี้ต้องขอติเรื่อง Call Center เพราะติดต่อยากมากกว่าจะเจอเจ้าหน้าที่

5. ธนาคารใบโพธิ์ บัตรนี้พิจารณาเพิ่มวงเงินให้ทุกปี (ตามวันที่ครบรอบการถือ) มีโปรแกรมแบ่งจ่ายตามที่จัดรายการกับร้านค้าเท่านั้น ขอเพิ่มวงเงินชั่วคราวได้ปีละแค่ 2 ครั้ง  บัตรของเอาไปผูกบัญชีออมทรัพย์ทำเป็นบัตร ATM ได้ แต่มีค่าธรรมเนียม (เคยฟรี)

6. บัตรกรุงเก่า บัตรนี้ให้วงเงินน้อยพอ ๆ กับบัตรใบบัว จ่ายช้าได้ไม่เกิน 3 วัน เกินจากนั้นโดนค่าติดตามทันที โปรโมชั่นดีใช้ได้ (แต่ไม่เข้ากับสไตล์ชีวิตผมเลย) แต่ที่ชอบคือ ได้เงินคืนสำหรับเติมน้ำมัน

7. บัตรชาวไร่ชาวนาไทย บัตรนี้ให้วงเงินค่อนข้างสูง (ตอนสมัครผมมีฐานเงินเดือนไม่ถึงบัตรทองด้วยซ้ำ แต่ได้บัตรทองมา และวงเงินก็แบบบัตรทองด้วย) แต่อย่าจ่ายช้านะ แค่ 2 วันก็โดนเก็บค่าติดตามแล้ว แต่บัตรนี้จะไม่เก็บค่าธรรมเนียมเลยตั้งแต่การใช้งานในปีที่ 5 เป็นต้นไป ส่วนช่วงปีที่ 2 – 4 นั้น จะไม่มีค่าธรรมเนียมถ้ารูดใช้ปีละอย่างน้อย 12 ครั้ง


จะเห็นว่า ก่อนจะไปถึงขั้นตอนการสมัครบัตรเครดิตให้ผ่านนั้น การหาข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางเลือกว่าจะสมัครบัตรเครดิต อันไหนดี ตามตอน 1/2 และตอนนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังมองหาบัตรเครดิตที่ถูกใจได้อย่างดีพอสมควร อย่างไรก็ดี อย่าเป็นหนี้หัวโตนะครับ 

สมัครบัตรเครดิต อันไหนดี (ตอน 1/2)

ก่อนจะอ่านย่อหน้าต่อ ๆ ไป ขอบอกก่อนว่า ถ้าท่านไม่มีแผนการใช้จ่ายชัดเจน หรือยังมองไม่ออกว่า จะใช้บัตรเครดิตอย่างไรให้ได้กำไรแล้ว ให้หยุดไว้ที่ตรงนี้ครับ เลิกคิดเรื่องสมัครบัตรเครดิตไว้ก่อน นอกจากจะอ่านไว้เป็นข้อมูล


คำถามแนะนำที่มักพบตาม Google คือ “สมัครบัตรเครดิตที่ไหนดี pantip” แสดงถึงความนิยมในการค้นหาข้อมูลจากผู้มีประสบการณ์ตามเว็บบอร์ด

ผมลองค้นหาคำนี้ หรือแม้แต่ “บัตรเครดิต คุ้มสุด pantip”ใน Google เท่าที่ดูในเว็บบอร์ดแล้ว แต่ละคนก็มักจะบอกว่าของค่ายนั้นค่ายนี้ (ตามที่ตัวเองชอบ) ก็เลยอยากจะเสนอในมุมมองของผม เผื่อจะเป็นไอเดียสำหรับหลาย ๆ ท่าน จะได้ใช้บัตรเครดิตแบบคุ้มค่าเต็มๆ

หลักการง่าย ๆ ที่ผมใช้ประจำ (สมัครหลายบัตรบ่อย ยกเลิกอันที่ไม่ชอบ จนเกือบจะประจำ) คือ

1.       เลือกโปรโมชั่นให้เหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้จริง
a.       อย่าเพิ่งไปตื่นตากับสิ่งที่ดูหรูแต่เราไม่ได้ใช้ หรือใช้แล้วกลับเพิ่มภาระให้เรา ผมเคยยกตัวอย่างว่า ผมปฏิเสธเซลล์บัตรเอเม็กซ์ ไม่ใช่เพราะโปรโมชั่นมันไม่ดี แต่โปรฯที่เขามี ผมไม่มีโอกาศได้ใช้เลย  และยังต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งค่าธรรมเนียมรายปีและค่าธรรมการชำระเงินผ่านบริการเคาน์เตอร์  (อ่านเพิ่มถ้าสนใจ)
b.      ประเมินดูว่า เราน่าจะใช้โปรฯอันไหนบ้าง และโปรฯที่บัตรเครดิตให้ มันยาวนานแค่ไหน เช่น ส่วนลดเติมน้ำมัน ส่วนลดชอปปิ้ง (เอาแบบที่เราซื้อของประจำอยู่แล้วนะครับ) เงินคืนเมื่อชอปปิ้งต่างประเทศหรือซื้อของผ่านเว็บต่างประเทศ (เงินคืน มันมาจากการค้ากำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของธนาคาร) ร้านอาหาร (เป็นหัวหน้างาน พาลูกน้องไปฉลองประจำ) การประกันภัยสำหรับการเดินทาง (คนที่ต้องเดินทางด้วยบริการขนส่งสาธารณะและเอาบัตรเครดิตซื้อตั๋วได้ เดี๋ยวนี้รถทัวร์หลายเจ้าก็รับบัตรเครดิตแล้ว)
c.       อย่าสนใจโปรฯพวกชิงรางวัลมาก มันไม่ได้ช่วยอะไรเรามาก
2.       วิธีการชำระคืน
a.       ความง่ายในการหาที่ชำระ บางบัตร (ที่ผมเคยถือ) ชำระได้เฉพาะที่บริการของธนาคารของเขาเท่านั้น บริการเคาน์เตอร์ตัวแทนก็เกือบไม่มี
b.      มีทางเลือกสำหรับชำระโดยไม่มีค่าธรรมเนียม อันนี้ต้องเลือกที่เหมาะกับการใช้งานจริงนะครับ บางธนาคารขนาดจ่ายหน้าเคาน์เตอร์ตัวเองก็ยังมีค่ารรมเนียม แต่พอหักผ่านบัญชีของธนาคารอื่นๆกลับไม่มี
c.       ดูเงื่อนไขการชำระผ่านการหักบัญชีเงินฝากให้ดี บางธนาคาร เมื่อท่านแจ้งความจำนงค์ว่าให้หักชำระ 100% ตามใบแจ้งหนี้ ธนาคารจถือว่า ยอดชำระขั้นต่ำของท่านคือ 100% (ไม่ใช่ 10%) แม้ท่านจะชำระนอกรอบรวมกันแล้ว 99% ธนาคารก็ยังถือว่าท่านค้างชำระ (ว่ากันตามตัวอักษร และเจ้าหน้าที่ call center ก็จะถูกโปรแกรมมาให้รับรู้เท่านี้) และจะมีผลต่อข้อมูลเครดิต (เครดิตบูโร) ดูภาพตัวอย่างได้
d.      ควรมีโปรแกรมประเภทแบ่งจ่ายรายเดือน (ไม่จำเป็นต้องดอกเบี้ยพิเศษเสมอไป) อันนี้ควรมีสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะการใช้บริการแบ่งจ่าย จะทำให้แต่ละงวดบัญชีของเราเป็นการชำระเต็ม ไม่มีดอกเบี้ยสูงเหมือนการจ่ายขั้นต่ำ (ผมเคยยกตัวอย่างไว้ว่าทำไมดอกเบี้ยมันจึงดูสูง ๆ ทั้ง ๆ ที่มันแค่ 20% ต่อปี ในหัวข้อ เทคนิคการปิดหนี้บัตรเครดิตด้วยสินเชื่อส่วนบุคคล)  และยิ่งถ้าใช้บริการหักค่าใช้จ่าย 100% ผ่านบัญชีธนาคารแล้ว โปรแกรมนี้นับว่าต้องมี เพื่อป้องกันการมี black list เพราะผิดพลาดทางเทคนิค (ทางธนาคารถือว่าเป็นความรับผิดชอบของเราในการบริหารจัดการหนี้ของเราให้สอดคล้องกับนโยบายเครดิตบูโร / เขายืดตามตัวอักษร) มีภาพตัวอย่างให้ดูครับ
e.      ชำระแล้ว มีผลต่อการใช้วงเงินทันที บางธคารแปลกมาก ให้บริการตัดชำระผ่านบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ แต่จะมีผลต่อวงเงินก็หลังเที่ยงคืน (ทั้งๆที่เงินก็ดูดจากบัญชีเราไปแล้ว) แต่พอจ่ายผ่านหน้าตู้ ATM กลับมีผลต่อวงเงินคงเหลือทันที (ทั้งๆที่มันก็ธนาคารเดียวกัน)



อันนี้เป็นตัวอย่างการเตือนเรื่องเครดิตบูโร แม้ค้างเงินแค่หลักร้อย (ใช้บริการหักผ่านบัญชีเงินฝาก 100%)



การใช้บริการหักผ่านบัญชีเงินฝาก 100% จะถือว่าไม่มีขั้นต่ำ แม้จ่าย 99% แล้วก็ถือว่าค้างชำระ


3.       ตัวอย่างการเลือกบัตร
ที่จะกล่าวต่อไปนี้ แนะนำพอเป็นแนวครับ เพราะโปรโมชั่นต่าง ๆ อาจจะเปลี่ยนไปตามการทำตลาดบัตรเครดิตของแต่ละเจ้าไป ตัวอย่างการเลือก เช่น
a.       ถ้าเดินทางด้วยเครื่องบินบ่อย ลองดูว่าธนาคารไหนที่มีบัตรร่วมกับสายการบินบ้าง เช่น KBank กับ Air Asia หรือว่า KTC กับการบินไทย (KTC Royal Orchid) 
b.       ถ้าชอบเข้าห้างเซ็นทรัล ก็แน่นอนว่าควรถือบัตรเครดิตของเขาเลย เพราะจะได้ส่วนลดเมื่อเอาบัตรของเขารูดซื้อของในห้างของเขา
c.       ถ้าชอบเข้าพารากอน เดอะมอลล์ เอ็มโพเลี่ยม หรือห้างในเครือ ก็คงเป็น Citi M แน่ ๆ
d.       ถ้าชอบเข้าบิ็กซี ก็มีบัตรร่วม Citi ของบิ๊กซี และแน่นอนที่ไม่ลืมคือ ชอบเข้าโลตัส ก็ควรใช้บัตรของเขาไป ได้โปรโมชั่นเต็ม ๆ
e.       ถ้าไม่ได้ชอบห้างไหนเจาะจง ก็อาจจะดูโปรโมชั่นอื่น ๆ เช่น ชอบเงินคืน (cash back) ตอนนี้ของ SCB ก็น่าจะโอเคสุด พวกส่วนลดเติมน้ำมัน ก็จะมีบัตรกรุงศรี บัตรธนชาต บัตรสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ หรือประเภทเน้นที่กินที่เทียว เน้นผ่อน 0% ก็มักจะมีให้เลือกดูกันหลายเจ้า

เบื้องต้น ให้ดูตามนี้ก่อน สำหรับผู้ต้องการสิ่งที่ช่วยบริหารการใช้บัตรเครดิตให้ดีขึ้น ควรดูเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติมใน สมัครบัตรเครดิต อันไหนดี (ตอน 2/2) ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทำไมเดี๋ยวนี้คนเราเป็นหนี้กันมาก

ผมไปเจอหัวข้อนี้มาจาก pantip ก็เลยขอเอามาขยายผลแสดงความเห็นต่อในบล็อกนี้ ไม่ได้มีเจตนาจะไปหักล้างความคิดใคร เพียงแต่ส่วนตัวผมมีความคิดเห็นต่างจากความเห็นทั่วไป สำหรับผมเองคิดว่าสาเหตุที่เราเป็นหนี้กันมากมีดังนี้

1. ไม่รู้จักคิด

1.1 เงินไม่พอใช้เลยทำบัตรเครดิต/ บัตรกดเงินสด

สิ่งที่ผมมักได้ยินจากปากเพื่อนมนุษย์เงินเดือนด้วยกันก็คือ อยากทำบัตรเครดิตเพราะเงินไม่ค่อยพอใช้ หรือไม่ก็วงเงินบัตรเครดิตเต็ม เลยต้องสมัครบัตรเครดิตเพิ่ม

ผมไม่เข้าใจจริง ๆ ว่าเขาเอาอะไรมาคิด ถ้าเงินไม่พอใช้ เราก็ต้องทำงานมากขึ้นหรือไม่ก็เปลี่ยนงานที่มีโอกาสได้ค่าตอบแทนมากขึ้น การทำบัตรเครดิตมันไม่ได้ทำให้เรามีเงินในแต่ละเดือนมากขึ้นเลย ตรงข้ามมันเป็นการสร้างภาระหนี้ให้ตัวเองอย่างเห็นได้ชัด ถ้าเขาทำงานค้าขาย ต้องมีเงินต้นทุน สามารถเอาเงินที่กู้ไปค้าขายจนได้กำไร แล้วเอารายได้ที่เกิดก็มาใช้หนี้ในเวลาที่เจ้าหนี้กำหนดไว้ ก็ไปอย่าง

1.2 บ้าศักดิ์ศรีจอมปลอม

ที่ขอพูดคือ การวัดคุณค่าหรือศักดิ์ศรีตัวเองด้วยบัตรเครดิตที่ถือ พอสมัครบัตรเครดิตไม่ผ่านก็ขาดความไม่มั่นใจในตัวเองว่าทำไมสมัครบัตรเครดิตไม่ผ่าน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วการอนุมัติบัตรเครดิตมันขึ้นกับแนวทางปฏิบัติของแต่ละธนาคารที่ต่างกันไป แม้ท้ายสุดเราอาจจะพยายามหาวิธีสมัครบัตรเครดิตให้ผ่านได้ แต่ถ้ามีแล้วไม่รูด มันก็เหมือนถูกมองว่ามีบัตรเครดิตไว้เพื่อโชว์ มันก็อยากจะรูดโชว์อีก (ยอมอด ไม่ยอมอาย) มันก็ยิ่งเสียวินัยการเงินไปกันใหญ่ ท้ายสุดก็อาจจะต้องไปกู้เงินเพื่อปิดหนี้บัตร

1.วัตถุนิยมแบบขาดการประมาณตน
ผมไม่ได้ต่อต้านการซื้อรถซื้อบ้านหรืออะไรที่เป็นสิ่งจำเป็น แต่หลายคนมักผ่อนแบบเกินตัว ร้ายไปกว่านั้นคือการผ่อนเพื่อการบริโภคเสียส่วนใหญ่ เช่น รถยนต์ (ที่ราคามันตกเร็วกว่าเงินที่ผ่อนไปเสียอีก)


ผมรู้จักคนหนึ่งที่พยายามกัดฟันผ่อนรถป้ายแดงเดือนละประมาณ 10,000 กว่า ๆ แต่จอดไว้มากกว่าขับ ผมเคยแนะนำให้เขาขายเสีย เขากลับย้อนว่า เข้าใจเขาหน่อยว่ามันเป็นสมบัติชิ้นเดียวที่เขามีอยู่ ผมก็อุตส่าห์หวังดีอธิบายให้ฟังว่า มันไม่ใช่สมบัติแต่มันเป็นตัวสร้างหนี้ เพราะกว่าจะผ่อนหมด เขาต้องจ่ายเงินร่วม 600,000  และรถจะเก่าลงจนราคาจะเหลือไม่เกิน 300,000 ก็เท่ากับว่าเงินมันหายไป 300,000 แล้วจะซื้อมาจอดให้มันเสื่อมค่าเล่นทำไม แต่เขาไม่รับฟัง ท้ายสุดก็หนี้สินล้นพ้นตัวต้องคอยหลบเจ้าหนี้ (ตอนนี้ไม่รู้หายตัวไปไหนแล้ว)

1.4 ยอมอยู่ในเกมการตลาดของสถาบันทางการเงิน

การจัดแคมเป็ญการค้าการขายทุกอย่างในโลกล้วนเป็นไปตามกลไกการตลาดทั้งสิ้น แต่ปัญหามันอยู่ที่เรามักจะยอมติดกับดักหลุมพรางของผู้ให้บริการสินเชื่อ เรามักจะเห็นโฆษณาชวนให้เป็นหนี้เพื่อเห็นแก่ความกตัญญู เป็นหนี้เพราะอยากมีภาพลักษณ์ที่ดี เป็นหนี้เพราะกลัวครอบครัวมีปัญหา ดังนั้น ถ้าเรากำลังอยู่ในภาวะแบบนั้นอยู่ เราก็จะมีข้ออ้างให้กับตนเองและอยากจะเป็นหนี้จนเนื้อเต้น เราก็จะเดินเข้าไปในกับดักนั้น ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงมันมีวิธีการแก้ปัญหาอีกหลายทางที่เราสามารถคิดได้และทำได้ (แต่เราก็เลือกไม่ทำ)

2. นิสัยขาดวินัย จึงเกิดอาการการทำอะไรตามใจคือไทยแท้
นิสัยประจำชาติด้านลบที่เรายังแก้กันไม่ได้ นั่นคือ การทำอะไรตามใจคือไทยแท้ และที่มาของนิสัยนี้ก็คือ การขาดวินัย พวกฝรั่งที่จับจุดนี้ได้ก็มาเปิดบริษัทปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลดูดเงินเข้าประเทศตัวเอง หลัง ๆ มา ธนาคารพานิชย์ต่าง ๆ ของไทยก็เอากับเขาบ้างเพื่อสร้างรายได้เข้าองค์กร

รากความหมายที่แท้จริงของการมีวินัย คือ การรู้จักควบคุมบังคับตนเองให้อยู่ในแนวทางที่ควร หรือในแนวทางของการใช้เหตุผลที่ควรจะเป็นตั้งแต่ระดับจิตใจ ทุกวันนี้ที่เราไม่ตื่นสาย ยังไปทำงานตรงเวลา ทำตามกฎระเบียบข้อบังคับทางจราจรต่าง ๆ ได้ ถือได้ว่ามีวินัยระดับหนึ่ง แต่มันก็ถูกต้องบางส่วนครับ

เพื่อให้เห็นภาพก็คือไปดูมดที่มันมักมาหาอาหารตอนที่เราเก็บกวาดอาหารไม่หมดครับ จะเห็นว่าแต่ละตัวมันทำหน้าที่ของตัวเองโดยไม่ต้องมีอะไรมาคุมเลย ไม่มีตัวไหนทำตัวเก๋าเกมออกนอกแถวเลย ท้ายสุดมันก็อยู่ข้ามแล้งข้ามปีได้

ตามความเป็นจริงแล้ว คนอยู่สูงกว่าสัตว์ ควรจะวินัยทั้ง 3 ด้าน กล่าวคือ

1.                  กายกรรม ควบคุมตนเองให้ทำในสิ่งที่ควรทำ ควบคุมตนเองให้ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ
2.                  วจีกรรม ควบคุมตนเองให้พูดในสิ่งที่ควรพูด ควบคุมตนเองให้ไม่พูดในสิ่งที่ไม่ควรพูด และ
3.                  มโนกรรม ควบคุมตนเองให้คิดในสิ่งที่ควรคิด ควบคุมตนเองให้ไม่คิดในสิ่งที่ไม่ควรคิด


แต่เราก็พบว่ามนุษย์โลกทั่วไปไม่ได้เป็นอรหันต์ด้านวินัย ก็เลยต้องมีกลไกทางสังคมมาช่วย เช่น ตัวบทกฎหมาย การลงโทษต่าง ๆ มาควบคุมเพื่อให้ทุกอย่างในสังคมมันไปในแนวทางที่ควรไปนั่นเอง เช่น หลายคนตื่นเช้าไปทำงานเพราะกลัวถูกหักเงินเดือน ไม่ขับรถฝ่าไฟแดงเพราะกลัวโดนจับ จึงไม่ถือได้ว่ามีวินัยอย่างแท้จริง แต่มันเป็นความกลัวเสียตังค์มันบังคับเราอยู่

แล้วคราวนี้มันมาเกี่ยวกับการเป็นหนี้กันมากก็ตรงที่ว่า เดี๋ยวนี้กู้ง่าย กฎระเบียบผ่อนคลายการเยอะ นิสัยการทำอะไรตามใจคือไทยแท้มันก็เลยแผลงฤทธ์กันง่าย ๆ จึงส่งผลให้เราเป็นนักกู้กันง่าย ๆ ครับ ไม่เชื่อลองคิดดูว่าระหว่างทางของชีวิตมันมีอะไรที่เราชอบเป็นพิเศษ เรามักทำลายกฎเพื่อเห็นแก่สิ่งที่เราชอบ ตัวอย่างเช่น เราเป็นคนชอบ iphone ดังนั้น แม้เรารู้ว่าการเก็บออมเป็นสิ่งดีที่ควรทำ iphone ก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่สุด แต่เมื่อรุ่นใหม่ออกมาแถมยังมีโปรผ่อน 0% มาล่อใจอีก ถ้าเรายังไม่มีวินัยตามที่กล่าวมาทั้ง 3 ข้อข้างต้น เราก็จะตามใจตัวเองยอมไปเป็นหนี้อย่างง่ายดาย (ยอมให้พวกสินเชื่อมาจูงจมูกเสมอทุกครั้งไป) แม้จะรู้ว่า มันก็ไม่ได้จำเป็นอะไรมากนัก

ตัวอย่างชวนคิด
อยากเล่าเรื่องสมัยที่บัตรเอเม็กซ์ (American Express) มีโปรโมชั่นแบบแหวกแนวให้ฟัง ตอนผมเริ่มทำงาน มันมีโปรโมชั่นอยู่ว่า ใครก็ตามที่จบจากสาขาวิชาที่คนนิยมจากมหาวิทยาลัยของรัฐจะสามารถทำบัตรของเขาได้ทันที โดยไม่ต้องแสดงสลิปเงินเดือน ผมก็อยู่ในช่วงนั้น เรียนจบใหม่ เริ่มทำงานไม่กี่เดือน เซลล์เอเม็กซ์ก็ตามตื๊อเหลือเกิน รวมถึงคนรู้จักที่มีญาติตัวเองเป็นเซลล์ที่เอเม็กซ์ก็มาชวน สมัยนั้นการมีบัตรใบนี้ถือว่าเท่มาก พรรคพวกสมัครกันเป็นแถว ยกเว้นผม ทำไมเหรอครับ 
- ผมหาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมผมต้องมีบัตรเครดิต
- สารพัดโปรโมชั่นที่เซลล์มานำเสนอมันเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็เป็นสิ่งที่ผมไม่มีโอกาสจะได้ใช้
- ถ้าผมรูดบัตรใช้จ่าย อย่างเก่งก็เดือนละ 1000 บาท ได้แต้มมา 40 แต้ม มูลค่าก็ไม่เกิน 4 บาท แต่ทำไมต้องมาเสียค่าบริการ counter service เดือนละ 15 บาท ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมรายปีประมาณ 1,000 บาท (ในสมัยนั้น)

ที่พูดว่าก็เพื่อแบ่งปันความคิดเห็น ผมก็ไม่ได้เป็นนักบริหารขั้นเทพมาจากไหน และก็ไม่ได้ต่อต้านการสร้างหนี้ (ที่จำเป็น) แต่อย่างใด แค่อยากสะท้อนความคิดด้านหนึ่งที่อาจจะเป็นคำตอบหนึ่งของคำถามที่ว่า ทำไมเดี๋ยวนี้คนเราเป็นหนี้กันมาก ก็เท่านั้นครับ ผมเองก็ยังสมัครบัตรเครดิตหลายใบ ต่อภายหลังผมก็มีบัตรเอเม็กซ์ด้วย (แต่ท้ายสุดผมก็ยกเลิกบัตรนี้ไปก่อนที่จะถึงรอบเก็บค่าธรรมเนียมรายปี เพราะหาที่ใช้ลำบาก)

วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เป็นหนี้อย่างมีชั้นเชิง ตอน 3/3: ใช้ระบบธนาคารออนไลน์ทำตัวเป็นผู้ติดตามหนี้ตนเองโดยไม่ต้องเสียตังค์

หลังจากที่ทำความเข้าใจกับหลักการลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อส่วนบุคคลด้วยโรงรับจำนำ แล้ว ก็มาสู่ขั้นตอนสร้างบริการติดตามหนี้ตนเองแบบไม่ต้องเสียค่าติดตามทวงถาม

หยุดความเคยชินแบบเดิม ๆ
ก่อนอื่นเคยสังเกตตัวเองมั้ยว่า ถ้าจะเก็บเงินซื้อสิ่งที่อยากได้ มันไม่เคยได้สักที แต่ถ้าผ่อนเมื่อไหร่ เรากลับมีอะไรเป็นของตัวเองเป็นชิ้นเป็นอัน ที่เป็นแบบนี้เพราะระบบบริการสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารได้ช่วยเรา คือ
1.      มีใบแจ้งหนี้มาแจ้งเตือนทุกเดือน
2.      แม้ลืมจ่าย ก็ยังมีคนทำหน้าที่เลขา โทรหรือส่ง sms มาตามให้จ่ายหนี้ (พร้อมกับคิดค่าบริการตั้ง 200 - 250 บาท )

สร้างระบบขึ้นมาเอง
เราก็เอาหลักแบบเดียวกันกับการติดตามหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลมาประยุกต์ใช้ในการเก็บเงินจ่ายโรงรับจำนำ 4 ขั้นตอนง่าย ๆ คือ

1.      เปิดบริการธนาคารออนไลน์ หรือ Internet Banking ของธนาคารที่เราเปิดบัญชีรับเงินเดือน (โดยทั่วไปสมัครใช้งานฟรี)
2.      เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์กับธนาคารเดียวกัน แล้วนำไปเพิ่มเป็นบัญชีรับโอนเงินบุคคลที่ 3 (ไม่ควรทำบัตรเอทีเอ็มสำหรับบัญชีนี้)
3.      กำหนดให้มีการโอนเงินอัตโนมัติจากบัญชีเงินเดือน ไปบัญชีตามข้อ 2 ทุกต้นเดือน
4.      เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนทองที่จำนำไว้ ก็ไปถอนเงินออกมาทีเดียวแล้วเอาไปจ่ายให้โรงรับจำนำ รับทองคืนมา

เพื่อให้เห็นภาพ ขอยกตัวอย่างหน้าจอ iBanking ของธนาคารกรุงเทพ

ในหน้าจอ My Account ให้ใส่เฉพาะบัญชีที่เป็นรายรับของเราเท่านั้น และเป็นบัญชีที่เรามักเบิกออกเพื่อเอาเงินไปบริหารต่อ อย่าเอาพวกบัญชีเงินฝากประจำ หรือบัญชีสะสมเงินเพื่อชำระหนี้รายเดือน รายปีมาใส่ในนี้ (โดยทั่วไป รายการในหน้านี้จะต้องขอเพิ่มกับธนาคารโดยตรง)

สำหรับคนที่เริ่มใช้งานบัตรเครดิตให้ได้กำไรแล้ว อาจจะนำบัญชีสะสมเงินเพื่อชำระหนี้บัตรมาใส่ในหน้าจอนี้เพื่อคอยดูและทำการชำระผ่านหน้าจอนี้ได้




ในหน้าจอ Transfers ให้ใส่บัญชีที่เราต้องการสะสมเงินไถ่ถอนทองไว้ในหน้าจอนี้ในส่วนของ บัญชีบุคคลที่ 3 (My 3rd Party Accounts) โดยเราสามารถเพิ่มเองได้ทันที รายการบัญชีเงินฝากในหน้าจอนี้ เราจะโอนเงินเข้าได้อย่างเดียว ไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ (ป้องกันเราใจแตกถอนมาใช้ได้โดยง่าย)




หลังเพิ่มบัญชีต่าง ๆ ใน My 3rd Party Account แล้วก็มาตั้งเวลาโอนเงินจากบัญชีเงินเดือนเข้าบัญชีสะสมเงินสำหรับไถ่คืนทองคำ

ตามภาพเลยครับ ระบุว่าโอนจากบัญชีอะไร เข้าบัญชีไหน เดือนละเท่าไหร่ ทุกวันที่เท่าไหร่ เป็นเวลากี่เดือน เป็นอันจบพิธี




เพียงเท่านี้ ระบบธนาคารออนไลน์ทำตัวเป็นผู้ติดตามหนี้แทนเราโดยไม่มีค่าติดตามทวงถามแล้วครับ

เป็นหนี้อย่างมีชั้นเชิง ตอน 1/3: "แนวทางลดภาระดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลภาคทฏษฎี"

จั่วหัวข้อเสียขนาดนี้ อย่างเพิ่งคิดว่าผมเป็นนายหน้าค้าแคมเป็ญเงินกู้นะครับ และผมก็ไม่ได้มาแนะนำการชักดาบนะครับ แค่อยากนำเสนอไอเดียสำหรับมนุษย์เงินเดือน เดินดิน กินข้าวแกง อยู่ในยุคที่ข้าวของแพงแซงหน้าเดือนแล้ว ถ้าจะพูดแบบไม่รักษาฟอร์มแล้วละก็ ผมว่าการก่อหนี้เพื่อความอยู่รอดบางครั้งคราว มันเป็นเรื่องที่ต้องทำ

ขอย้ำอีกครั้งว่า ไม่ได้ส่งเสริมก่อหนี้ แต่อยากนำเสนอว่า ถ้าจะต้องเป็นหนี้แล้ว เราต้องใช้มันให้เกิดประโยชน์ที่สุด และหาทางจ่ายดอกเบี้ยน้อยที่สุด และแบบถูกกฎหมายด้วย และไม่ต้องทำ haircut ให้เสียเครดิตแบบไม่จำเป็น

ข้อสังเกตเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้
ไอเดียเรื่องนี้มาจากการรับภาระจ่ายดอกเบี้ยของคน 3 กลุ่มดังต่อไปนี้
1.                  ผู้ประกอบการ เมื่อกู้เงินจากธนาคารมาทำธุรกิจ จ่ายดอกเบี้ยประมาณ 7% แต่ต้องมีหลักทรัพย์ หรือโครงการน่าสนใจจริงๆ
2.                  แรงงานฝีมือชั้นสูง เป็นงานหนัก งานดี มีรายได้สูง ทำบัตรเครดิตได้แน่ๆ โดยจ่ายดอกเบี้ย 20% (แต่ภาคปฏิบัติธนาคารก็รีดดอกเบี้ยทุกเม็ดเท่าที่จะทำได้ ลองอ่านใน เทคนิคการปิดหนี้บัตรเครดิตด้วยสินเชื่อบุคคลดู)
3.                  แรงงานฝีมือชั้นกลาง-ต่ำ ถ้าทำบัตรเครดิตไม่ได้ ก็ยังสามารถกู้สินเชื่อส่วนบุคคลได้ จ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 28%

จะเห็นว่า ยิ่งฐานะทางการเงินต่ำ จะยิ่งถูกโขกดอกเบี้ยสูงขึ้น คนทั่วๆไปจะได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำก็เฉพาะตอนซื้อบ้าน ซื้อรถ เท่านั้น ที่จริงมันมีเหตุผลทางธุรกิจว่า ทำไมดอกเบี้ยบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินมันโหด ลองไปหาในกูเกิลดูครับ

ดังนั้น ถ้าเราประเมินในหัวแล้วพบว่า ชีวิตนี้ยังไงก็ต้องเลี้ยงตัวด้วยเงินเดือนอีกยาวไกล และหากมีเรื่องต้องใช้เงินด่วนทีไร เราก็พึ่งสินเชื่อส่วนบุคคลแน่ ๆ (ตามโฆษณาที่ชักชวนให้ไปกู้เพื่อเห็นแก่ความกตัญญู) ทำไมเราไม่วางแผนรับมือสำหรับการเป็นหนี้แบบมีชั้นเชิงเสียแต่วันนี้ครับ (เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันแบบเข้าใจ)

เพิ่มความน่าเชื่อถือทางการเงินแบบมนุษย์เงินเดือน
แนวคิดหลักของผมคือ ในขณะที่เรายังเป็นมนุษย์เงินเดือน เราต้องเพิ่มความเชื่อถือทางการเงินของเราเพื่อลดภาระการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อส่วนบุคคล อย่างน้อยเราไม่ควรจ่ายเกิน 15% ตามที่กฎหมายกำหนด (เกือบครึ่งหนึ่งที่ผู้ให้บริการสินเชิ่อส่วนบุคคลเรียกเก็บจากเรา) เพื่อความกระจ่างขึ้น กรุณาทำความเข้าใจใน  3 ประเด็นหลัก ดังนี้ครับ

1.                  ความเชื่อถือทางการเงินที่สถาบันการเงินให้ความคำนับคือ ทรัพย์สินที่ไม่เสื่อมค่าง่าย ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บดูแลมาก อันได้แก่ ที่ดิน บ้าน แต่ระดับคนทั่วไปแล้ว อาจจะยังไม่ต้องไปถึงขั้นนั้นครับ
2.                  อย่าคิดว่าในโลกนี้มีจะมีแต่ คุณอ้อน คุณซี่บาย หรือชอยซ์แรก เท่านั้นที่ปล่อยกู้สินเชื่อส่วนบุคคล (แถมไม่รับหลักทรัพย์อะไรเลย) ที่จริงมีสถาบันการเงินอื่นอีกที่เราจะไปขอสินเชื่อส่วนบุคคลที่ยินดีรับเอาทรัพย์ในข้อ 1 ไปเป็นหลักประกันและให้ดอกเบี้ยต่ำ
3.                  หากเราอุตส่าห์หาทรัพย์ตามข้อ 1 ไปค้ำประกันแล้ว หากเรามีเหตุให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้ก้เอาสินทรัพย์ไปขายทอดตลาดจนได้เงินครบถ้วนแล้ว ก็ไม่ควรเอาเราไปอยู่ใน black list ของเครดิตบูโร

จาก 3 ข้อข้างต้น ลองคิดว่า จะมีทรัพย์ใดที่เราจะก่อกำเนิดขึ้นได้จริง เพื่อเป็นต้นทุนในการกู้เงินในยามจำเป็น แล้วมีแหล่งเงินกู้ใดยอมคิดดอกเบี้ยเราต่ำๆ บ้าง ๆ (นอกเหนือจากสถาบันการเงินที่จ้างพริตตี้มาโฆษณาที่เราคุ้นเคย แล้วเขาก็โยนค่าใช้จ่ายมาให้เรา)


เมื่อคิดไว้แล้ว แนะนำให้อ่านตอนต่อไปดูครับ (เป็นหนี้อย่างมีชั้นเชิง ตอน 2/3: แนวทางลดภาระดอกเบี้ยภาคปฏิบัติ)

เป็นหนี้อย่างมีชั้นเชิง ตอน 2/3: แนวทางลดภาระดอกเบี้ยภาคปฏิบัติ

จากตอนที่แล้วที่ทิ้งท้ายให้คิดไว้ (เป็นหนี้อย่างมีชั้นเชิงตอน1/3) ให้ลองคิดดูว่าจะมีสินทรัพย์ใดที่เราสร้างได้ไม่ยากเกินไป และสถาบันการเงินใดที่ยอมรับทรัพย์นี้ และทำให้เรารับภาระดอกเบี้ยน้อยลง

หลักทรัพย์และแหล่งเงินที่รับหลักทรัพย์
เพื่อไม่ให้เสียเวลา มาเริ่มกัน

ทองคำ: สินทรัพย์สำหรับค้ำประกันสินเชื่อที่หาง่ายสุด เป็นได้มากที่สุดก็คือทองแท่งครับ เดี๋ยวนี้มีน้ำหนัก 1 บาทด้วย
โรงรับจำนำ: สถาบันการเงินสินเชื่อส่วนบุคคลที่รับหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดอกเบี้ยถูก และไม่ยุ่งกับเครดิตบูโร ก็คือ โรงรับจำนำ

พูดถึงโรงรับจำนำแล้ว อย่าไปมองว่าเป็นของคนชั้นล่างเลยครับ เพราะไม่ว่าเราจะเดินเข้าบูธของสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียง มีคนมาคอยยืนไหว้ต้อนรับ พูดจาเพราะ ๆ ถือบัตรกดเงินสดที่ดูสวยงาม หรือเดินเข้าโรงรับจำนำแล้วแปะนิ้วโป้ง ผลลัพธ์ท้ายสุดก็เป็นหนี้แบบเดียวกัน แต่โรงรับจำนำเก็บดอกเบี้ยถูกกว่าเป็นเท่าตัว และไม่ต้องยุ่งกับเครดิตบูโรด้วย

แนวทางปฏิบัติ
มีใน 3 ขั้นตอนง่าย ๆ สำหรับการการได้สินเชื่อ
1.   หาทางเป็นเจ้าของทองแท่งน้ำหนัก 1 - บาทในปีที่ 1 ก่อน (ทองแท่งจะมีค่ากำเหน็จต่ำกว่าทองรูปพรรณ) ช่วงที่ทองมักราคาต่ำคือ เดือนมิถุนายน – สิงหาคม สำหรับการมีทองก้อนแรก เราอาจจะยังต้องพึ่งสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารอยู่ (ยอมจ่ายดอกเบี้ย 28% สำหรับทองก้อนแรก)
2.   เมื่อต้องการใช้เงินก้อนประมาณ 25,000 เอาทองไปจำนำที่โรงรับจำนำ โดยทั่วไปดอกเบี้ยสูงสุดอยู่ที่1.25% ต่อเดือน หรือปีละ 15% เท่านั้น
3.   สะสมเงินแต่ละเดือนพร้อมดอกเบี้ย เมื่อครบกำหนดก็เอาเงินที่เก็บสะสมไว้ไปไถ่ทองคืนมา เก็บทองไว้เป็นหลักทรัพย์สำหรับการกู้เงินยามจำเป็นครั้งต่อไป

ความแตกต่างระหว่างเงินกู้จากสินเชื่อส่วนบุคคลกับเงินจากโรงรับจำนำ
คราวนี้ลองเปรียบเทียบความแตกต่างของดอกเบี้ยดูระหว่างการเป็นหนี้กับบริการสินเชื่อบุคคลจากธนาคารกับโรงรับจำนำดูครับ สมมติว่าเอาเงินมา 25,000 บาท ชำระคืน 12 งวด

ตาราง 1ค่าใช้จ่าย 12 เดือนกรณีใช้สินเชื่อส่วนบุคคลจากธนาคาร (ลดต้นลดดอก)

งวดที่
เงินต้นคำนวณ
ชำระเงินต้น
อัตราดอกเบี้ย
ยอดจ่ายคืนรวมอย่างน้อย
เงินต้นคงเหลือ
2.33%
             2,412.25
          25,000.00
1
           25,000.00
      1,829.75
        582.50
             2,412.25
          23,170.25
2
           23,170.25
      1,872.38
        539.87
             2,412.25
          21,297.87
3
           21,297.87
      1,916.01
        496.24
             2,412.25
          19,381.86
4
           19,381.86
      1,960.65
        451.60
             2,412.25
          17,421.20
5
           17,421.20
      2,006.34
        405.91
             2,412.25
          15,414.87
6
           15,414.87
      2,053.08
        359.17
             2,412.25
          13,361.78
7
           13,361.78
      2,100.92
        311.33
             2,412.25
          11,260.86
8
           11,260.86
      2,149.87
        262.38
             2,412.25
            9,110.99
9
             9,110.99
      2,199.96
        212.29
             2,412.25
            6,911.03
10
             6,911.03
      2,251.22
        161.03
             2,412.25
            4,659.81
11
             4,659.81
      2,303.68
        108.57
             2,412.25
            2,356.13
12
             2,356.13
      2,357.35
          54.90
             2,412.25
                  (1.22)
 รวม
    3,945.78
           31,359.25


ตาราง 2: ค่าใช้จ่าย 12 เดือนกรณีใช้สินเชื่อส่วนบุคคลจากโรงรับจำนำ (ลดต้นลดดอก)

งวดที่
เงินต้นคำนวณ
ชำระเงินต้นอย่างน้อย
อัตราดอกเบี้ย
รวมยอดจ่ายคืน
เงินต้นคงเหลือ
      2,083.50
1.25%
          25,000.00
1
              25,000.00
          2,083.50
       312.50
             2,396.00
          22,916.50
2
              22,916.50
         2,083.50
       286.46
             2,369.96
         20,833.00
3
              20,833.00
         2,083.50
       260.41
             2,343.91
         18,749.50
4
              18,749.50
         2,083.50
       234.37
             2,317.87
         16,666.00
5
              16,666.00
         2,083.50
       208.33
             2,291.83
         14,582.50
6
              14,582.50
         2,083.50
       182.28
             2,265.78
         12,499.00
7
              12,499.00
         2,083.50
       156.24
             2,239.74
         10,415.50
8
              10,415.50
         2,083.50
       130.19
             2,213.69
           8,332.00
9
                8,332.00
         2,083.50
       104.15
             2,187.65
           6,248.50
10
                6,248.50
         2,083.50
         78.11
             2,161.61
           4,165.00
11
                4,165.00
         2,083.50
         52.06
             2,135.56
           2,081.50
12
                2,081.50
         2,083.50
         26.02
             2,109.52
                (2.00)
รวม

    2,031.11
          27,033.11


จะเห็นว่ารายจ่ายต่อเดือนจะลดลง และแม้โรงรับจำนำจะไม่ลดต้นลดดอก ทั้งปีก็จะมีดอกเบี้ยทั้งหมดเพียง 25,00015% = 3,750 ก็ยังน้อยกว่าสินเชื่อบุคคลจากธนาคารเห็น ๆ

และคราวนี้ ลองมาเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างเป็นหนี้กับบริการสินเชื่อส่วนบุคคลกับธนาคาร กับการเป็นหนี้กับโรงรับจำนำดูครับ

ตาราง 3: เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการเป็นหนี้กับธนาคารกับโรงรับจำนำ

ประเด็นเปรียบเทียบ
บริการสินเชื่อจากธนาคาร
บริการสินเชื่อจากโรงรับจำนำ
ดอกเบี้ย
28%
15%
ส่งข้อมูลเครดิตบูโร
ส่ง
ไม่ส่ง
การแสดงความน่าเชื่อถือ
เงินเดือน
ทรัพย์สิน
สภาพหนี้หลังค้างจ่าย
ยังคงเป็นลูกหนี้ / ติด black list บูโร
ยืดทรัพย์เราแล้วจบกัน (เว้นแต่ราคาทองมันตกฮวบอาบจนเราต้องชดใช้ส่วนต่าง)
ระบบจัดเก็บติดตามหนี้
ครบถ้วนสมบูรณ์
เราทำเองหมด

เห็นละยังครับว่า ถ้าอยากผ่อน iPhone บ่อยๆละก็ ครั้งแรกยอมตกเทรนก่อน ยอมไปผ่อนทองก่อน จะเห็นสิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน หรือใครจะเอาหลักนี้ไปประยุกต์ใช้กับการปิดหนี้บัตรเครดิตก็ยังได้เลยครับ (แนะนำอ่านแนวคิดใน เทคนิคการปิดหนี้บัตรเครดิตด้วยสินเชื่อบุคคล )


แต่ยังไม่จบครับ สิ่งสำคัญคือ โรงรับจำนำอาจจะไม่มีบริการส่งใบแจ้งหนี้ทุกเดือนแบบธนาคาร ถ้าเราขาดวินัยการเก็บสะสมเงิน เราก็ไปไม่ถึงฝั่งเหมือนกัน ยังมีเกร็ดสำคัญอีกนิดที่ช่วยทำหน้าที่ติดตามหนี้เราอัตโนมัติโดยเราไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เชิญติดตามตอนสุดท้าย เป็นหนี้อย่างมีชั้นเชิงตอน 3/3: ใช้ระบบธนาคารออนไลน์ทำตัวเป็นผู้ติดตามหนี้ตนเองโดยไม่ต้องเสียตังค์ ครับ (ตอนสุดท้ายแล้ว แข็งใจอ่านอีกนิดครับ)

สำหรับตารางคำนวณข้างบน ใครอยากลองเอาไปคำนวณเองหรือประยุกต์ให้กับการเงินของแต่ละคน ให้ดาวน์โหลดไฟล์ Excel
 นี้ไปลองใช้ดูครับ