Sponsor Link

วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ผ่อน 0% จริงหรือหลอก

เรามักจะพบโปรแกรมลักษณะผ่อน 0% แบบนี้อยู่บ่อย เช่น ช่วงเทศกาลสำคัญ ปีใหม่ ลดครึ่งปี และอื่นๆสารพัดที่เกิดอยากให้มี จึงเริ่มเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า มันผ่อน 0% จริงหรือ ในความเห็นผมแล้ว คิดว่าคงจะ 0% จริงในยุคแรกๆที่เริ่มทำโปรโมชั่นแบบนี้ โดยยอมรับกำไรน้อยลง (ไม่ยอมขาดทุนแน่ๆ ) ทั้งนี้ก็เพื่อหวังผลทางการตลาด แต่หลัง ๆ มานี้ ผมไม่คิดว่าจะจริง ในขณะที่หลายคนก็อาจจะคิดว่าเป็นโปรโมชั่นพิเศษจริง ๆ


สิ่งที่ผมลองสังเกตเห็นก่อนซื้อคือ

·         การผ่อน จะผ่อนกับสถาบันการเงินทั้งนั้น (แน่นอนว่าสถาบันการเงินเขาต้องได้ดอกเบี้ยเป็นผลกำไรทั้งนั้น) ผมยังไม่เคยเห็นผ่อนกับร้านค้าโดยตรงเลย ล่าสุดที่ผมเห็นว่าเป็นการผ่อนกับเจ้าของสินค้าโดยตรงคือ ตอนซื้อเพจเจอร์ (pager: วิทยุติดตามตัวสำหรับรับข้อความ เด็กรุนใหม่ๆคงไม่รู้จัก) ตอนประมาณปี 2538 - 40


·         เวลาจะซื้อสินค้า โดยเฉพาะตามร้านค้า คนขายมักจะแอบกระซิบว่า ถ้าจ่ายสด จะยอมลดให้ หรือไม่ก็ประกาศตรง ๆ ว่า ถ้าจ่ายสดจะลดกี่เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ก็มีของกำนัลให้ สิ่งนี้สามารถตีความได้เลยว่า การไม่ผ่อน 0% ทำให้ร้านค้าไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายให้สถาบันทางการเงินที่ร่วมโปรมชั่นกับเขา ร้านค้าจึงสามารถให้ลดหรือมีของแถมให้


·         บางโปรโมชั่น แหวกแนวอีกว่า ถ้าผ่อน 0% แล้ว มีเงินคืนหรือของกำนัลจากสถาบันทางการเงิน มันยิ่งสวนทางกันไปใหญ่ว่า นอกจากจะไม่มีดอกเบี้ยแล้ว ยังได้ของแถมอีก ลองจินตนาการว่าคนเป็นเจ้าของร้าน คุณจะจัดแคมเป็บแบบนี้มั้ยว่า ถ้าใครซื้อแบบผ่อน ฉันมีของแถมให้ ร้านค้ามีแต่อยากได้เงินสดให้ครบถ้วนไว ๆ ทั้งนั้น


ถ้าประเมินเบื้องต้นดูแล้ว มันมีการจ่ายดอกเบี้ยมันแฝงอยู่ในตัวสินค้าแน่ ๆ ขึ้นอยู่กับว่า ใครเป็นผู้รับภาระส่วนนี้

เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีนี้ ผมขอเล่าประสบการณ์ส่วนตัวให้ฟัง

ตอนที่ผมจะต้องเปลี่ยนยางรถยนต์เพราะหมดอายุแล้ว ก็เลยไปร้านที่เป็นศูนย์มาตรฐานของยางรถยนต์ยี่ห้อสะพานหิน (นามสมมติ) มีโปรโมชั่นผ่อนยาง 0% นาน 6 เดือน  ข้างละ 3,200 บาท สามารถเทิร์นยางเก่าได้ เหลือ 3,000 บาท ราคารวม 4 ล้อก็ 12,000 บาท ผ่อนเดือนละ 2,000 บาท

จากนั้น ผมลองถามร้านอื่นที่มียางแบบเดียวกัน และรับบัตรเครดิตด้วย โดยคิดว่าถ้ารูดแล้วเอาไปเข้าโปรแกรมแบ่งจ่ายจะจ่ายต่องวดเท่าไหร่ ปรากฎว่าได้ราคารวม 10,000 บาท (ข้างละ 2,500 บาท) ถ้าเอาไปเข้าโปรแกรมแบ่งจ่ายแล้ว ผ่อนแค่เดือนละ 1,765.50 เท่านั้น



แนวประเมินเบื้องต้นว่าใครรับผิดชอบดอกเบี้ย

การจะดู ให้ดูตัวสินค้าที่จะกระตุ้นยอดขาย ดังนี้ครับ


1. ถ้าเป็นสินค้าที่ออกมาระยะหนึ่ง แล้วราคาเดิม แนวโน้มร้านค้ายอมจ่ายดอกเบี้ยเองเพื่อเพิ่มยอดขายหรือโละของที่กำลังจะตกรุ่น
2. ถ้าของออกใหม่ คนอยากได้อยู่แล้ว ผูกขาดการจัดจำหน่าย เช่น โทรศัพท์คุณฝน ต่างคนต่างเฝ้ารอตัวรุ่นใหม่ พอเปิดตัวก็ออกแคมเป็ญผ่อน 0% เลย ผมว่าเรามีแนวโน้มเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยครับ

3. ถ้าเป็นหรือพวกสินค้าที่ไม่สามารถเร่งการใช้ได้แต่ต้องรอการใช้ตามความเป็นจริง (เช่น ยางรถยนต์) การออกแคมเป็ญแบบนี้ไม่ได้กระตุ้นยอดขายในภาพรวมอยู่แล้ว นอกจากทำเพื่อแย่งลูกค้ากัน อันนี้ก็ต้องเช็คราคากันดี ๆ ครับ


ทำไมร้านค้าจัดโมโมชั่นผ่อนผ่านสถาบันการเงิน ผ่อนเองกับร้านไม่ได้เหรอ
ตอบง่าย ๆ เลยคือ มันจึงความลงตัวกันระหว่างลูกค้า ร้านค้า และสถาบันทางการเงิน (win - win - win)
1. ลูกค้าอยากจ่ายทีละน้อย
2. ร้านค้าเองก็ต้องการผลักภาระการจัดการหนี้สินออกไปที่สถาบันทางการเงิน ไม่อยากมีภาวะหนี้สูญ
3. สถาบันทางการเงินก็ต้องการดอกเบี้ยและการติดตามหนี้สินมันก็เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจให้กู้เงินอยู่แล้ว แม้ภายหลังลูกค้าไม่อยากผ่อน ก็ไม่สามารถยอมให้ยึดสินค้าแล้วหยุดผ่อนได้ เพราะการผ่อนมันอยู่ในรูปของการกู้แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ลูกค้าจะอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้สถาบันการเงินโดยตรง จึงอยู่ในภาวะรับภาระดอกเบี้ยและเงินต้นทั้งหมดโดยปริยาย


จาก 3 win ข้างต้น มันจึงเป็นกลไกที่สามารถย้ายลูกค้าของร้านค้าไปเป็นลูกหนี้ของสถาบันทางการเงิน เป็นเป็นการกระตุ้นยอดขายร้านค้า กระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต/บัตรผ่อนสินค้า แม้ลูกค้าไม่อยากได้สินค้าภายหลัง หรืออยากจะทิ้งสินค้าแบบยอมให้ยึดของแล้วตัวเองจะไม่ผ่อนต่อก็จะทำไม่ได้แล้ว เนื่องจากไม่ได้เป็นลูกหนี้ร้านค้าแล้ว แต่เป็นลูกหนี้สถาบันทางการเงิน มีข้อมูลเครดิตบูโรเป็นตัวประกัน

เท่านี้ก็คงพอเห็นภาพว่า ผ่อน 0% นั้นจริงหรือหลอก โปรแกรมทางการตลาดก็แอบตอดเงินเราไม่แพ้กลโกงบัตรเครดิตเลยครับ นี่ยังไม่รวมการเชื้อเชิญให้เป็นหนี้แบบที่ทำให้เข้าใจว่ากู้แล้วคุ้มเลย สำหรับผู้ที่ต้องการลองคำนวณในลักษณะแบบนี้เล่น ๆ ให้ดาวน์โหลดไฟล์ Excel แล้วปลี่ยนตัวเลขเอาเองนะครับ

วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ป้องกันกลโกงที่มากับบัตรเครดิต

ว่ากันว่า การป้องกันปัญหาก่อนเกิดนั้น ย่อมดีกว่ามาคอยตามแก้ไขปัญหาภายหลัง การใช้บัตรเครดิตก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อมันมีประโยชน์ แต่ก็มีโทษมาด้วยกันเหมือนดาบ 2 คม เราก็คงต้องใช้มันอย่างรู้ทันโจร (ขโมยข้อมูลบัตร) ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการรู้ว่าจะสมัครบัตรใบไหนดี

ป้องกันตั้งแต่การเตรียมเอกสารตอนสมัครบัตรเครดิต
  • ให้เตรียมเอกสารพอดีที่จะสมัคร โดยเฉพาะการสมัครผ่านตัวแทน ยุคนี้เป็นยุคสินเชื่อวิ่งเข้าหาลูกค้า ถ้าเอกสารเตรียมไว้ใช้งานไม่ได้ เขาจะมาขออันใหม่เอง (อย่าลืมว่าเขามีรายได้จากคอมมิสชั่นการสมัครบัตรเครดิตที่ได้รับการอนุมัติแล้วเท่านั้น)
  • อย่าทำสำเนาเอกสารเปล่า ๆ เพื่อให้ตัวแทนเอาไปสมัครบัตรอื่นตามใจเขา (แม้เขาอ้างว่า อยากบริการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า แท้จริงอยากได้คอมมิสชั่นเพิ่ม)  มันเกือบไม่ต่างจากถูกคนอื่นขโมยเอกสารไปสมัครบัตรเครดิตแทนเรา เปิดโอกาสให้เกิดการแอบเอาเอกสารของเราไปทำธุรกรรมทางการเงินในทางทุจริตได้ เอกสารไหนที่เตรียมเกินไว้ ให้เก็บไว้กับตัว และถ้าทำลายทิ้งเสีย (อย่าเสียดายเลยครับ ดีกว่ามาตามแก้ไขปัญหาภายหลัง)
  • คาดข้อความในสำเนาให้ชัดเจน ทั้งลักษณะการคาดและข้อความ ตัวอย่างเช่น “สำหรับสมัครบัตรเครดิตธนาคาร....เท่านั้น” อย่าเขียนลอย ๆ กว้าง
  • การเซ็นต์รับรองสำเนาถูกต้อง นอกจากต้องมีลายเซ็นต์แบบเดียวกันแล้ว ให้ระบุวันที่เซ็นต์ด้วย เพื่อกำหนดอายุการใช้งานเอกสาร 

ป้องกันระหว่างใช้งานบัตรเครดิต
  • หลังจากที่อนุมัติการสมัครแล้ว ขณะรับบัตร (ไม่ว่าจะรับเองที่สาขาธนาคารหรือให้ธนาคารส่งให้ทางไปรษณีย์) ซองเอกสารจะต้องอยู่ในสภาพเรียบร้อย ปิดผนึกแน่นหนา
  • ระวังมีคนขอให้เอาบัตรไปลองใช้กับเครื่อง (จะตู้ ATM อะไรก็ตามที่รูดได้สอดได้) โดยไม่มีเหตุอันควร อาจจะเป็นแผนลวงให้ถูกดูดข้อมูลโดยเครื่องสกิมเมอร์ (credit card skimmer) ได้ ลองหาคำว่า เครื่องสกิมเมอร์  จะมีข้อมูล ภาพ และสารพัดเทคนิคขโมยข้อมูล
  • การแสดงน้ำใจก็ต้องมีสติให้ดี ผมเคยได้ยินมาว่า มีฝรั่งมายืนแถวตู้ ATM แกล้งมาถามคนที่มากดเงินที่ตู้ว่า ต้องการใช้เงินแต่บัตรเครดิตของเขาเสียบเข้าตู้ ATM ไม่ได้ อยากรู้ว่าบัตรเขาใหญ่เกินไปหรือป่าว จะขอยืมบัตรเครดิตคนนั้นลองเสียบดู แท้จริงแล้ว มันแอบติดเครื่องสกิมเมอร์ไว้ที่ช่องเสียบบัตรแบบแนบเนียนไว้แล้ว (บัตรเครดิตมันมีขนาดมาตราฐานเดียวกันทั่วโลก เทคโนโลยีบ้านเราก็นำเข้าจากต่างประเทศ มันเข้ากันได้แน่ๆ)
  • จำ secure code หรือ verified code  ที่หลังบัตรไว้ จากนั้นปิดทับด้วยสติ๊กเกอร์แบบที่เขาเอาไว้ติดกับอุปกรณ์ที่เขาป้องกันการดัดแปลงแก้ไขโดยไม่ได้รับอนุญาต (สติกเกอร์ที่มีคำว่า warrantee void if removed นั่นแหละครับ) หรือสติกเกอร์ที่ขาดติดกับบัตรได้ง่ายเมื่อมีการพยามแกะ (หาซื้อได้ไม่ยากนัก) ถ้าเอาไปใช้จ่ายที่ร้านอาหารหรือร้านที่มีบริกรเอาบัตรไปรูดในที่ลับตาเราแล้วค่อยเอามาให้เราเซ็นต์ แล้วตอนบัตรคืนมามันมีรอยแกะ เตรียมโวยได้เลยว่าแอบดูดข้อมูลหรือป่าว
  • อย่างไรก็ดี ระวังถูกหลอกถามข้อมูลบัตร ข้อมูลส่วนตัว เช่น แกล้งอำว่าโทรจากธนาคารเจ้าของ ตรวจสอบได้ว่ามีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่มีมูลค่าสูง เลยโทรมาถามเพื่อขอการยืนยัน โดยถามข้อมูลต่าง ๆ อันนี้ขอบอกเลยว่า ถ้ามาจากธนาคารจริง เราตอบแค่ใช้จ่ายหรือไม่ได้ใช้เท่านั้น จากนั้นธนาคารจะดำเนินการต่างๆเอง เพราะข้อมูลอื่นๆเขามีของเขาอยู่แล้ว ถ้าถามเกินจากนี้หรือพูดอ้อมไปอ้อมมา วางสายไปเลยครับแล้วลองโทรกลับที่ call center ของธนาคารโดยตรงแทนจะดีกว่า
  • หาสติ๊กเกอร์บาง ๆ ที่สามารถแปะได้แน่น ๆ ไม่หลุดง่าย นำมาแปะส่วนที่ว่างให้เห็นเป็นสัญลักษณ์ว่า มันเป็นบัตรของเรา ป้องกันส่งผิดคนเวลาไปกินข้าวนอกบ้าน ถ้าทำขนาดนี้แล้วเขายังส่งบัตรผิดอันมาให้เรา เตรียมโวยได้เลยว่ากำลังถ่วงเวลาเราเพราะแอบเอาบัตรเราไปดูดข้อมูลหรือป่าว (ถ้าสติ๊กเกอร์หลุดง่าย เดี๋ยวมันจะติดในเครื่องรูดบัตร ถูกเรียกค่าเสียหาย ซวยโดยใช่เหตุ)
  • การรูดบัตร ร้านเล็กๆโดยทั่วไปหรือปั๊มน้ำมัน จะรูดทีเดียวที่เครื่องรูดบัตรของธนาคารเท่านั้น ถ้าห้างใหญ่หน่อย มักจะ 2 ครั้งคือ รูดที่เครื่อง cashier เพื่อเก็บข้อมูลว่าชำระด้วยบัตรอะไร กับรูดที่เครื่องรูดบัตรเพื่อส่งข้อมูลขออนุมัติวงเงินกับธนาคาร ถ้าเกินจากนี้ สงสัยไว้ก่อนเลยว่า ถูกดูดข้อมูล แม้เขาจะอ้างว่าเก็บข้อมูลหลายระบบก็ไม่ต้องเชื่อ เพราะโดยทั่วไปข้อมูลทางคอมพิวเตอร์สามารถทำสำเนาได้ง่าย ๆ ไม่ต้องรูดหลายทีก็ได้
  • อย่าตั้งรหัสต่าง ๆ ตามวันเดือนปีเกิด ง่ายต่อการเดาโดยเฉพาะตอนกระเป๋าหาย เรามักได้ยินเสมอว่า คนขโมยกระเป๋าเขาเดารหัสบัตร ATM จากวันกิดที่อยู่ในบัตรประชาชน ถ้าจะตั้งรหัสก็ให้หาวันสำคัญอื่น ๆ ในชีวิตแทน เช่น วันครบรอบแต่งงาน วันเกิดลูก วันเกิดแฟน
  • ซื้อของผ่านอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ต้องมี https นำหน้า ซึ่งเป็นการเข้ารหัสข้อมูลขณะส่งไปตามเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แม้จะมีคนดักข้อมูลได้ ก็อ่านไม่รู้เรื่อง
ป้องกันหลังการยกเลิกใช้บัตรเครดิต
  • หลังแจ้งยกเลิกบัตรเครดิตที่สาขาธนาคารแล้ว ควรแจ้งระงับบัตรกับ call center ด้วย บางธนาคารบริหารบัตรเครดิตแยกออกมาต่างหาก (สาขาธนาคารเป็นแค่ที่รับเรื่องหรือประสานงาน)
  • อย่าลืมว่า แม้มี sms ยืนยันการรับทราบ แต่ sms ไม่ถือว่าเป็นหลักฐานอ้างอิงทางธุรกรรมทางการเงิน (เป็นแค่ส่วนหนึ่งของขั้นตอนการทำงานที่ช่วยให้ทราบสถานะการดำเนินการ)
  • อย่างน้อยต้องมีใบแจ้งหนี้งวดสุดท้ายที่ระบุว่า หนี้เหลือ 0 บาท และเราควรเก็บไว้เป็นหลักฐาน (อย่างน้อย 10 ปี)

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นข้อควรระวังเบื้องต้นทั่วไปที่เราควรทำความเข้าใจไว้ เพื่อเราจะรอดพ้นหรือเจอป้องกันกลโกงที่มากับบัตรเครดิตให้น้อยที่สุดครับ และอีกประการที่เรามักมองข้ามคือ โปรโมชั่นใช้บัตรต่าง ๆ เช่น ผ่อน 0% จอมปลอม ก็ดูดเงินเราไม่น้อยเช่นกัน

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

โปรแกรมแบ่งจ่ายรายเดือนดีอย่างไร

สำหรับการใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าที่เรายังอยู่ในภาวะไม่สามารถชำระเต็มจำนวน การจ่ายขั้นต่ำมักจะเป็นทางเลือกแรกที่เรามักนึกถึงเสมอ และเราก็จะทำตามนั้นจนลืมคิดว่า มันน่าจะมีวิธีอื่นอีกหรือไม่

ทำไมต้องใช้โปรแกรมแบ่งจ่ายรายเดือน
คนใช้บัตรเครดิตบางส่วนมักเข้าใจว่า ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยจากยอดค้างจ่าย ความเข้าใจนี้เป็นจริงถ้าเราไม่นำบัตรไปรูดซื้อสินค้าอีกเลย (แต่ความเป็นจริงมักไม่เป็นแบบนั้น) ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจึงรวมดอกเบี้ยที่มาจากการรูดซื้อสินค้าใหม่ๆ ด้วย ตามที่เขียนไว้ใน “จ่ายบัตรขั้นต่ำให้ดอกน้อยลง(อีกนิด) ตอน 2/3 

การที่จะให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยจากยอดค้างจ่าย มีวิธีเดียวเท่านั้นคือ เอารายการซื้อสินค้ารายการใดก็ได้ (ที่มียอดรูดเยอะๆ ) เอาไปเข้าโปรแกรมแบ่งชำระรายเดือน โดยโทรแจ้ง call center ก่อนถึงสรุปยอดค่าใช้จ่าย (วันปิดงวดบัญชี)  วิธีนี้จะทำให้การชำระเงินของเราเป็นการชำระเต็มทุกงวด ดังนั้น แม้เรานำบัตรไปรูดซื้อสินค้าเพิ่ม ธนาคารจะไม่ถือว่ายอดค้างชำระ รายการที่รูดใหม่ก็จะไม่ถูกนำไปคำนวณดอกเบี้ยแบบจ่ายขั้นต่ำ บริการนี้มีชื่อเรียกต่างกันไปตามแต่ละธนาคาร เช่น FLEXI (KTC), SmartPlan (Krungsri), Deejung (SCB)

ข้อแตกต่างระหว่างการแบ่งชำระรายเดือนกับการชำระขั้นต่ำแบบปกติ
ข้อดีคือ 
1. เราไม่ต้องรับภาระดอกเบี้ยจากการรูดซื้อสินค้าอื่นๆ ตราบเท่าที่เรายังชำระเต็มตามที่ระบุไว้ในใบแจ้งหนี้
2. หลายธนาคารมีโปรโมชั่นพิเศษด้านดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า
20% / ปี เช่น 0.89% / เดือน (ซึ่งเทียบเท่ากับ 10.68% / ปีเท่านั้น)
ข้อเสียคือ
1. ยอดที่เรานำเข้าโปรแกรมแบ่งจ่ายแล้ว เป็นการสมัครใจว่าจะชำระเป็นงวด ธนาคารได้ตอบแทนโดยให้ดอกเบี้ยในอัตราพิเศษแล้ว ธนาคารจึงมักไม่รับปิดยอด
 ท่านก็ต้องทยอยจ่ายตามโปรแกรมที่กำหนดไว้
2. รายการที่นำเข้าโปรแกรมแบ่งจ่ายรายเดือนแล้ว จะไม่สามารถนำมาจ่ายขั้นต่ำซ้ำได้ (เพราะถือว่าสมัครใจกำหนดงวดไว้แต่แรกแล้ว)
ข้อควรทราบ 
แต่ละธนาคารมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป เช่น ยอดขั้นต่ำที่เข้าร่วมโปรแกรม ทุกรายการหรือเฉพาะร้านที่ร่วมรายการ การกดเงินสดและการรูดซื้อทอง มักเข้าร่วมโปรแรกมนี้ไม่ได้
ตัวอย่างการคำนวณ
สมมติรูดซื้อทีวีไป 10,000 จากนั้นแต่ละเดือนเรามักจะรูดซื้อของเฉลี่ยเดือนละ 600 ถ้าเรารู้อยู่แล้วว่าชำระเต็มไม่ได้ ควรวางแผนว่า เราจะผ่อนเฉพาะยอด 10,000 บาทเป็นงวด ๆ และชำระเต็มส่วน 600 บาททุกเดือน
ดังนั้น ก่อนถึงวันสรุปยอดใช้จ่าย ให้เอายอด 10,000 ไปเข้าโปรแกรมแบ่งชำระ สมมติว่าต้องการผ่อน 10 เดือน จะตกเดือนละ 1,094 (รวมดอกเบี้ย 20% แบบลดต้นลดดอกแล้ว เฉลี่ยเดือนละ 94 บาท) แต่ถ้าไม่เข้าโปรแกรมแบ่งชำระรายเดือน นอกเหนือจากดอกเบี้ยของยอด 10,00 บาทแล้ว จะยังมีเพิ่ม 10 บาท / เดือน ที่มาจากยอดรูด 600 บาทด้วย

ลองเปรียบเทียบความแตกต่าง ดังนี้

ประเด็นเปรียบเทียบ
แบ่งชำระรายเดือน
จ่ายขั้นต่ำปกติ
สถานะการชำระแต่ละเดือน
ชำระเต็ม
ชำระขั้นต่ำ
ดอกเบี้ยของยอดรูดอื่นๆ     
ไม่มี เพราะธนาคารถือว่าชำระเต็ม
มี เพราะถือว่าชำระขั้นต่ำ
ยอดเรียกชำระเต็มแต่ละเดือน
1,094 + ยอดรูดอื่นๆ 600 = 1,694
อีก
900 ถือว่ายังไม่ครบกำหนดชำระ
10,000 (และน้อยลงแต่ละเดือน) + ดอกเบี้ยของยอด 10,000 + ยอดรูดอื่นๆ 600 + ดอกเบี้ยดอกเบี้ยของยอดรูดอื่นๆ 10 = 10,610
ยอดชำระขั้นต่ำ 10%    
1,094 + 10% ของ 600
= 1,094 + 60 = 1,154
10% ของเรียกชำระเต็ม
=10,600 x 10%
= 1,060 (และน้อยลงแต่ละเดือน)
จำนวนงวดที่หนี้หมด
10 งวด
มากกว่า 10 งวด (เว้นแต่หาเงินมาปิดหนี้ก่อนได้)
ดอกเบี้ยทั้งหมดใน 10 งวดแรก               
สูงสุด 94 x 10 = 940 บาท
อย่างน้อย (94 x 10) + (10 x 10)
= 940 + 100 = 1,040บาท

จากตารางจะเห็นว่า ถ้าเราทำรายการแบ่งชำระรายเดือน แต่ละเดือนจะมียอดขั้นต่ำสูงกว่าการชำระขั้นต่ำปกติ แต่เราสามารถกำหนดงวดค้างจ่ายได้ชัดเจน และยอดชำระเต็มก็เป็นไปตามที่เรากำหนดไว้ตอนขอแบ่งจ่ายชำระ ดังนั้น ถ้าเราวางแผนการเงินแล้วพบว่า เรามีกำลังจ่ายมากกว่าขั้นต่ำ แต่ก็ไม่สามารถจ่ายเต็มจำนวนได้ เราก็ควรใช้โปรแกรมแบ่งจ่ายรายเดือนที่ธนาคารมีให้

ก็ฝากไว้นะครับสำหรับ โปรแกรมแบ่งจ่ายรายเดือน เป็นอีกทางเลือกสำหรับใช้จัดการหนี้สินบัตรเครดิตของท่าน


วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เบิกเงินสดจากบัตรเครดิต เสียค่ากด 3% แล้ว ทำไมต้องมีดอกเบี้ยอีก

ขอเขียนบทความเชิงตั้งคำถามเสียบ้าง (ผม post คำถามไว้ที่ http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=572d5a4261aaf0da ถ้าใครตอบได้รบกวนตอบที่ลิงก์นี้เพื่อเป็นความรู้ต่อคนอื่น) เกี่ยวกับเหตุผลที่มีดอกเบี้ยการกดเงินสด (ทั้ง ๆ ที่คิดค่าธรรมเนียมการกดแล้ว)
เบิกเงินสดด้วยบัตรเครดิตต่างกับรูดบัตรซื้อของตรงไหน
เป็นที่ทราบทั่วไปว่า บัตรเครดิตที่เรา ๆ ท่าน ๆ ถืออยู่นี้ หากนำไปกดเบิกเงินสดจากตู้ ATM เมื่อไหร่ จะต้องมีค่าธรรมเนียม 3% ส่วนนี้พอรับได้ เพราะต้องเอาไปชดเชยรายได้ที่ธนาคารควรได้จากร้านค้า แต่ที่ผมอดสงสัยไม่ได้คือทำไมยังต้องมีดอกเบี้ยรายวันอีกต่างหาก (แม้เราจะชำระหนี้เต็มจำนวนทุกงวดก็ตาม)
หากจะเปรียบเทียบกับขั้นตอนต่าง ๆ ก็เกือบเหมือนกับเอาบัตรไปรูดซื้อสินค้าจากร้านค้าทุกประการ

ลองเปรียบเทียบนะครับ
รูดบัตรเครดิตซื้อสินค้า
กดเงินสดจากบัตรเครดิต
เราได้สินค้าที่ต้องการ
เราได้เงินที่ต้องการ แล้วเอาไปซื้อสินค้าที่รูดบัตรซื้อไม่ได้
ร้านค้าสรุปยอดส่งธนาคารแบบ online ในแต่ละวัน วันรุ่งขึ้น ธนาคารโอนเงินให้ร้านค้า โดย
ธนาคารได้ค่าธรรมเนียมจากร้านค้าทันทีประมาณ 2-3%
ร้านค้าได้รับเงินค่าสินค้าจากธนาคารประมาณ 97-98%
เราได้รับเงินเต็ม แต่ระบบธนาคารบันทึกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากเรา 3%
ครบรอบบัญชี ธนาคารออกใบแจ้งหนี้ เรียกเก็บเงินจากเรา ถ้าเราชำระเต็ม ก็ไม่ต้องชำระดอกเบี้ย
ครบรอบบัญชี ธนาคารออกใบแจ้งหนี้ เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมจากเรา พร้อมดอกเบี้ยกดเงินสดรายวัน และแม้เราชำระเต็ม ก็ยังมีดอกเบี้ยส่วนนี้ที่คำนวณระหว่างวันครบรอบบัญชี วันที่เราไปชำระจริงในงวดต่อไปอีกต่างหาก ราวกับว่าเราจ่ายขั้นต่ำซะงั้น (ดูวิธีคำนวณใน จ่ายบัตรขั้นต่ำให้ดอกน้อยลง (อีกนิด) ตอน 2/3 : ถ้าจ่ายขั้นต่ำล่ะ เขาคำนวณดอกเบี้ยอย่างไร)

ผมเห็นว่า ในเมื่อธนาคารได้เงินค่าธรรมเนียม 3% จากเราไปแล้ว  (เหมือนกับที่เรียกเก็บจากร้านค้า) ก็ไม่ควรจะมาคิดดอกเบี้ยกับเรา ตราบใดที่เรายังชำระหนี้ตามใบแจ้งหนี้ได้ครบถ้วนและเต็มจำนวน

เบิกเงินสดด้วยบัตรกดเงินสดก็ยังอุตส่าห์มีค่ากด
ที่ผมสงสัยอีกประการคือ พวกสินเชื่อส่วนบุคคลทำไมยังต้องมาเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการกดเงินอีก 3% แม้จะกดจากตู้ที่เป็นระบบของตัวเองก็ตาม (หลัง ๆ มาบางเจ้าเริ่มไม่เก็บแล้วเพราะการแข่งขันสูงขึ้น ยกเว้นถ้ากดข้ามธนาคาร) ค่าใช้จ่ายส่วนนี้มันก็ควรจะรวมอยู่ในค่าดำเนินการต่าง ๆ ของผู้ให้บริการสินเชื่อแล้ว เพราะการที่พวกปล่อยกู้คิดดอกเบี้ยการกู้ยืมถึง28% ต่อปีนั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดเพดานนี้ไว้ โดยรวมค่าใช้จ่ายดำเนินการต่าง ๆ แล้วต้องไม่เกินเท่านี้ 
ใครตอบได้ รบกวนตอบไว้ที่ http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=572d5a4261aaf0da นะครับ (เพื่อเผยแพร่ให้ผู้อื่นทราบ)
ข้อเสนอแนะส่วนตัว
ผมว่า เราทุกคนที่ยังต้องพึ่งพาสินเชื่อส่วนบุคคล  (ยามจำเป็น) ต้องร่วมกันต่อต้านการเอาเปรียบผู้บริโภคจนเกินงามด้วยการอย่าไปใช้บริการที่คิดค่าบริการยิบย่อยแบบนี้ ในไม่ช้าพลังผู้บริโภคจะบีบให้เขาต้องปรับตัว
จากประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว แม้เราจะไม่มีเงินพอจนต้องพึ่งพาสินเชื่อส่วนบุคคล แต่เรามักรู้ล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้ว เพียงแค่วางแผนการเงินดี ๆ เราก็ไม่ต้องไปจ่ายค่าธรรมเนียมโดยไม่จำเป็น ซึงเคยได้เสนอไว้ในบทความที่ผ่านมา เช่น
- อย่าใช้วิธีแบบกดเงินสด เมื่อจ้องการปิดบัตรเครดิตด้วยสินเชื่อส่วนบุคคล 
- ยอมการใช้สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อซื้อทองเก็บไว้ แล้วเอาเป็นหลักทรัพย์สำหรับการกู้เงินจากโรงรับจำนำ (ดูใน
 เป็นหนี้อย่างมีชั้นเชิงตอน 2/3: แนวทางลดภาระดอกเบี้ยภาคปฏิบัติ) ซึ่งจ่ายดอกเบี้ยต่ำกว่า และไม่ต้องยุ่งกับเครดิตบูโรด้วย


วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

จ่ายบัตรขั้นต่ำให้ดอกน้อยลง (อีกนิด) ตอน 3/3: ทำกันอย่างไร

หลังจากที่ท่านเข้าใจเรื่อง วันสรุปยอดบัญชีกับวันครบกำหนดชำระจากจ่ายบัตรขั้นต่ำให้ดอกน้อยลง (อีกนิด) ตอน 1/3: วันปลอดดอกเบี้ยที่ไม่ปลอดดอกเบี้ยจริง และ เข้าใจวิธีคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิตเมื่อชำระขั้นต่ำใน จ่ายบัตรขั้นต่ำให้ดอกน้อยลง (อีกนิด) ตอน 2/3 : ถ้าจ่ายขั้นต่ำล่ะ เขาคำนวณดอกเบี้ยอย่างไร แล้ว ก็มาถึงการจ่ายบัตรขั้นต่ำให้ดอกเบี้ยลดลง (อีกนิด) ซะที (ถ้าท่านชำระเต็มอยู่แล้ว และไม่กดเงินสดเลย ท่านไม่จำเป็นต้องอ่านครับ)

ตัวอย่างการเพิ่มจำนวนวันสำหรับคำนวณดอกเบี้ย
ก่อนจะพูดถึงขั้นตอนภาคปฏิบัติ มาดูตัวอย่างที่ผมโดนมาแล้ว ธนาคารนี้ผมทำหักค่าใช้จ่ายบัญชี 100% ดังนั้น ไม่มีขั้นต่ำ  ปกติจะครบกำหนดชำระทุกวันที่ 8 - 9 ของแต่ละเดือน (ผมมีปัญหาการเงินเพราะผลจากน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 54 นึกว่าเอาอยู่) มาดูว่า ขั้นตอนการเพิ่มวันคำนวณดอกเบี้ยของธนาคารเป็นอย่างไร

ภาพที่ 1 ผมจ่ายเต็มมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มันไม่มีความหมายอะไรสำหรับธนาคาร เพราะเขาไม่ได้ดอกเบี้ย (แน่นอนเราเป็นลูกค้าชั้นดี) ผมเอาเงินเข้าบัญชีไม่ทัน ก็ยังจ่ายบริการเคาน์เตอร์นอกรอบ เต็มจำนวนตามยอด แต่ก็ช้ากว่ากำหนด (จากวันที่ 8 เป็นวันที่ 15 ดูตามกรอบแดง ล่างทั้งซ้าย - ขวาประกอบ)




ภาพที่ 2 เดือนต่อมา แม้เดือนที่แล้ว ผมจ่ายไปกว่า 72%  (ตามกรอบแดงล่างขวา) จากยอด 36,xxx (ดูภาพยอดหนี้ในภาพที่ 1 ประกอบ) แต่ธนาคารถือว่าผมต้องจ่ายเต็ม ถือว่ามียอดค้างชำระ เข้าข่ายจะติดบูโร และเตรียมระงับบัตร (Call center ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะถูกโปรแกรมสมองให้ตอบตาม script ที่มีไว้แบบนั้น) และพอธนาคารเห็นว่าไม่ครบ ก็ย้ายวันครบกำหนดชำระไปปลายเดือน แน่นอนว่ามันยืดวันคำนวณดอกเบี้ยตามที่ผมอธิบายไว้ ผมถามธนาคาร เจ้าหน้าที่ก็อ้างว่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า (ที่จริงคือ หลอกให้ลูกค้าตายใจ คิดว่าได้กำไร 




ภาพที่ 3 เดือนต่อมา ผมประเมินแล้วว่า แม้ผมทุ่มสุดตัวก็ยังจ่ายเต็ม 100% ไม่ได้ และบัตรถูกระงับอยู่ดี ผมเลือกไม่จ่ายของเดือนที่ผ่านมา (ภาพล่างไม่มีรายการชำระเลย) ผมเก็บเงินไปจ่ายบัตรอื่นดีกว่า (อย่างไรก็ตามผมก็ปิดหนี้ได้ในเดือนต่อมา และยกเลิกทันที โดยภาพรวมก็ยังถือว่าได้กำไรจากบัตรนี้) 





หอมปากหอมคอแล้ว มาดูภาคปฏิบัติสำหรับจ่ายขั้นต่ำแบบลดดอกเลยครับ

ขั้นตอนแรกคือ เตรียมการ
  • ต้องทราบวันสรุปยอดของแต่ละบัตรเครดิตที่มี
  • ควรมีฟอร์มรับชำระที่มีบาร์โค้ดเก็บไว้ใช้ (ทุกงวด บาร์โค้ดจะเหมือนกันทุกประการ เว้นแต่ท่านขอหมายเลขบัตรใหม่เพราะบัตรใบเดิมหาย) ฟอร์มทุกอันมีประโยชน์ สามารถฝาก messenger ของบริษัทที่เราทำงานอยู่ไปชำระเงินได้ (ถ้าเขาจะไปอยู่ธนาคารนั้นๆ อยู่แล้ว และในฟอร์มมันก็มักไม่ระบุยอดหนี้ค้างชำระใด ๆ)
  • หาแหล่งรับชำระใกล้ตัว  เช่นตู้ ATM ตู้รับฝากเงิน (บางตู้รับชำระได้ด้วย) หรือบริการเคาน์เตอร์ตามร้านสะดวกซื้อ
  • แม้ไม่มีบาร์โค้ด ก็ชำระที่เคาน์เตอร์ธนาคารหรือตู้ ATM ของธนาคารที่ออกบัตรเครดิตได้ (แน่นอนว่า ส่วนใหญ่ไม่มีค่าธรรมเนียมการรับชำระ)

ขั้นตอนสุดท้ายคือชำระกับรูดให้ถูกวัน
  • ชำระวันรุ่งขึ้นทันที หลังวันสรุปยอด เพราะหลังสรุปยอด เป็นวันที่มียอดค้างชำระขึ้นในระบบคอมพิวเตอร์แล้ว ส่วนใบแจ้งหนี้จะมาถึงหรือยัง ไม่ต้องไปสนใจ โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน  เพราะการรอจนถึงวันครบกำหนดคือการยอมให้ดอกเบี้ยงอกจากเงินค้างจ่าย (เว้นแต่เป็นพ่อค้า แล้วต้องเอาเงินไปหมุนก่อนแล้วได้เงินคืนตอนวันครบกำหนดชำระ)
  • ถ้าวันสรุปยอดตรงกับวันหยุด อาจจะรอสัก 2 – 3 วัน หรือโทรถาม call center เลยครับว่า มีการสรุปยอดบัญชีหรือยัง
  • ให้หยุดใช้บัตรโดยเด็ดขาด หรือถ้าต้องใช้ ให้เลื่อนการรูดออกไปให้ไกลเท่าที่จะทำได้
  • เมื่อตั้งใจว่า จะหยุดการใช้บัตรเครดิตแน่ ๆ แต่ไม่สามารถชำระขั้นต่ำ 10% ได้ หรือชำระแล้วก็ยังต้องเอาไปรูดอีกเพราะค่าใช้จ่ายส่วนตัวไม่พอ ให้หาโปรโมชั่นและใช้เทคนิคการปิดหนี้บัตรเครดิตด้วยสินเชื่อบุคคล หลังปิดได้แล้ว ให้ยกเลิกบัตรเครดิตเจ้ากรรมนี้เสีย (ตั้งหลักได้เมื่อไหร่ ค่อยสมัครใหม่)
ง่ายเพียงเท่านี้ ก็จะทหให้ท่านจ่ายบัตรขั้นต่ำให้ดอกเบี้ยน้อยลงได้  บางคนอาจจะเอาไปวางแผนแต่ง bank statement ให้ดูดีได้ด้วย เพราะถ้าจะไปทำเรื่องเงินกู้ (ที่จำเป็น) แล้ว ถ้าในบัญชีเงินฝากเราหายหมดเกลี้ยงตั้งแต่วันแรก ๆ ของเดือน มันคงดูไม่ดีครับ

จ่ายบัตรขั้นต่ำให้ดอกน้อยลง (อีกนิด) ตอน 2/3 : ถ้าจ่ายขั้นต่ำล่ะ เขาคำนวณดอกเบี้ยอย่างไร

หลังจากที่เราเข้าใจระยะระหว่างวันสรุปยอด (closing date) จนถึงวันครบกำหนดชำระ คืออะไรจากจ่ายบัตรขั้นต่ำให้ดอกน้อยลง (อีกนิด) ตอน 1/3: วันปลอดดอกเบี้ยที่ไม่ปลอดดอกเบี้ยจริงแล้ว มาดูวิธีกินดอกเบี้ยแบบโหดของธนาคารแบบเนียน ๆ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย มาทำความเข้าใจประเด็นนี้กัน


ถ้าจ่ายขั้นต่ำล่ะ เขาคำนวณดอกเบี้ยอย่างไร



จากภาพ สมมติเราไม่มียอดจ่ายเดือนนี้ และอยากชำระแบบขั้นต่ำ ถ้าวันที่ 10/10/12 เรารูดสัก 10,000 แน่นอนว่า วันที่ 24/11 เราจะมียอดชำระ 10,000 แล้วถ้าเราจ่ายแค่ 8,000 ท่านคิดว่า ณ วันที่ 24/12 เขาจะคำนวณดอกเบี้ยท่านอย่างไร ถ้าท่านคิดว่า ท่านค้างชำระแค่ 2,000 เขาจะเอา 2,000 นี้เป็นฐานคำนวณดอกเบี้ยละก็ เป็นความเข้าใจผิดมหันต์ และถ้าคิดว่า ขอใช้สิทธิ์จ่ายช้าที่สุดเท่าที่ ประมาณว่าขอจ่ายวันสุดท้ายสุดตามที่ระบุไว้ในใบแจ้งหนี้ ยิ่งอีก ขอบอกเลยว่า มันคือกับดักให้ธนาคารสร้างดอกเบี้ยให้เราอย่างถูกกฎหมายโดยเราไม่รู้ตัว

ความจริงแล้ว เขาคำนวณจากยอด 10,000 จากวันที่ท่านรูดครับ และคำนวณทุกวัน จากทุกยอดที่ค้าง (เอาทุกเม็ด) 

step มันเป็นแบบนี้ครับ
  1. วันที่ 10/10 รูด 10,000
i             วันที่  9/11  ธนาคารสรุปยอด ออกใบแจ้งหนี้
ii             วันที่  10/11 – 24/11 ธนาคารส่งใบแจ้งหนี้ให้ถึงมือท่าน และท่านมีหน้าที่ชำระภายในระยะเวลานี้
  1. วันที่ 24/11 ครบกำหนดชำระยอดเต็ม 10,000 แต่ท่านจ่าย 8,000 ค้าง 2,000
  2. วันที่ 9/12 เขาสรุปยอดออกใบแจ้งหนี้ แต่งวดที่ผ่านมา ชำระขั้นต่ำ ดอกเบี้ยจะเป็นดังนี้
i                 คำนวณดอกเบี้ยร้อยละ  20% ต่อปี จากยอด 10,000 (ที่รูดไป) ตั้งแต่วันที่ 10/10 – 24/11 (34 วัน ประมาณวันละ 0.055% หรือทั้งหมดประมาณ 10,000 x 0.055% x 34 = 186 บาท )
ii                คำนวณดอกเบี้ยร้อยละ  20% ต่อปี จากยอด 2,000 (ที่ยังค้าง) ตั้งแต่วันที่ 24/11 – 9/12 (16 วัน ประมาณวันละ 0.055% หรือทั้งหมดประมาณ 2,000 x 0.055% x 16 17 บาท )
iii               ออกใบแจ้งหนี้ ยอดเรียกเก็บจะเป็น 2,000 (ที่ค้างจากงวดก่อน) + 186 (ดอกเบี้ยตอนรูด) + 17 (ดอกเบี้ยเงินต้นค้าง) = 2,203 บาท ถ้าดูให้ดี จะพบว่า 203 ที่เกินมา ประมาณ  10% ของ 2,000 ที่ค้างจ่าย พูดง่าย ๆ คือ เหมือนธนาคารได้ดอกเบี้ยจากยอดค้างจ่ายกว่า  10% ต่อเดือนแบบถูกต้องตามกฎหมาย
  1. วันที่ 24/12 ถ้าท่านชำระยอดเต็ม ก็จบ แต่
i                ถ้าการรูดที่ยกตัวอย่างมาเป็นการกดเงินสด บางธนาคารก็ยังจะคิดดอกเบี้ยของ 2,000 บาทอีก จากวันที่ 25/12 ถึงวันสรุปยอด (ทั้งหมดอีก  16 วัน ประมาณ 2,000 x 0.055% x 16 = 17 บาท)
ii               หรือถ้ายังชำระขั้นต่ำอีก ธนาคารก็ยังจะคิดดอกเบี้ยของ 2,000 บาทอีก 17 บาทเช่นกัน

ถึงตอนนี้ท่านพอมองภาพออกหรือยังว่า ทำไมดอกเบี้ยมันดูโหด ทั้ง ๆ ที่ธนาคารก็บอกชัดว่า ฉันคิดแค่ 20% ต่อปี (แต่บอกแบบค่อย ๆ ว่าฉันคำนวณมากกว่า 30 วันนะ) ที่หลังใบแจ้งหนี้เขาก็อธิบายไว้ แต่ตัวอย่างที่เขายกมา มันรวบรัด ถ้าไม่ตั้งใจอ่านจริง ๆ แล้ว มันจะไม่เข้าใจ และเมื่อเราไปโวยธนาคาร ก็มักจะไม่สามารถไปต่อกรอะไรได้ (ก็เขาถือเขาว่าบอกแต่แรกแล้วว่าจะเป็นแบบนี้)
ถ้าท่านเข้าใจ ท่านจะพอมองเห็นภาพจะทำอย่างไรให้จ่ายขั้นต่ำแบบเสียดอกน้อยลง ถ้ายังมองไม่ออก ต้องติดตาม จ่ายบัตรขั้นต่ำให้ดอกน้อยลง (อีกนิด) ตอน 3/3: ทำกันอย่างไร ครับ (ตอนจบแล้ว แข็งใจอ่านอีกนิด)