Sponsor Link

วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2556

ลับ ลวง พราง สินเชื่อส่วนบุคคล


ก่อนอื่นต้องบอกว่า ผมไม่ได้ต่อต้านสถาบันการเงินใดหรือมีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับสถาบันการเงินที่ผมนำมายกตัวอย่างในบทความนี้ ทุกคนต่างก็ทำมาหากิน สถาบันการเงินเขาก็หาดอกเบี้ยของเขาไป เราเองก็อาจจะต้องใช้บริการเขาในบางครั้ง แต่เราก็เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะปกป้องตัวเราเองด้วย

ลับ ลวง พราง สินเชื่อส่วนบุคคลหรือสินเชื่อเงินสดที่ผมจะกล่าวถึงต่อไปนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่สถาบันการเงินเขาโกงอะไรเรา แต่เป็นลับ ลวง พรางที่อยู่แฝงอยู่ในโปรโมชั่น ถ้าเราไม่คิดให้รอบคอบ มันก็ทำให้เราเป็นหนี้มากขึ้นไปเจอสารพัดวิธีเขาพยายามทำให้เราเป็นหนี้เขาให้ได้ (ก็เหมือนเซลหรือสาวเชียร์เบียร์ที่พยายามทำยังไงก็ได้ให้เกิดการขายมากที่สุดนั่นแหละครับ เพราะเขาได้คอมมิชชั่นจากการขาย) มาดูตัวอย่างเทคนิคที่เราอาจจะตกหลุมพรางกัน


1. ทำให้คิดว่าได้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ

ถ้าใครมีบัตรสินเชื่อเงินสดอยู่และไม่ได้ไปก่อหนี้กับเขานานๆ เขาจะเริ่มคิดถึงและส่งหนังสือเชิญไปเป็นหนี้ โดยบอกว่า ได้ดอกเบี้ยในอัตราพิเศษสุดคุ้ม แต่แท้จริงแล้วเขาก็จะมีค่าธรมเนียมอื่นๆรวมเข้าไปจนครบ 28% อยู่ดี (ดูจากรูปจะพบว่า เขาจะเขียนบอกตัวเล็ก ๆ) และถ้าเราถามเขาแบบชกหมัดตรง ๆ ว่า มันก็ไม่เห็นจะพิเศษตรงไหน เขาก็จะอ้างว่าธนาคารแห่งประเทศไทยให้ทำแบบนั้น ( เขาจะพูดเหมือนประมาณว่าเป็นข้อบังคับของ ธปท.ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ธปท. เขาอนุโลมให้เพิ่มเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้านสินเชื่อ แต่รวมแล้วไม่เกิน 28% ไม่ใช่บังคับให้คิดจากคนกู้ 28% )




2. ทำให้คิดว่าจ่ายดอกเบี้ยถูกกว่า

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า การกดเงินสดจากบัตรเครดิตนั้น อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 20% เท่านั้นแต่จะมีค่าธรรมเนียมการกดออกมา 3% ทันที ในขณะที่บัตรกดเงินสดมีดอกเบี้ยก็สูงกว่าคือ 28% แต่บางเจ้าจะไม่มีค่าธรรมเนียมการกดเงินถ้ากดเงินจากตู้ของเขาเอง ดังนั้น ถ้าเราสามารถใช้หนี้คืนในเวลาไม่เกิน 6 เดือน การกดเงินจากบัตรกดเงินสดนี้จะมีค่าใช้จ่ายในการชำระคืนน้อยกว่าการกดเงินจากบัตรเครดิตแน่นอน (แต่ต้องหาตู้เขาให้เจอนะ และอย่าลืมเอาค่าเดินทางในการหาตู้ให้เจอมารวมด้วยล่ะ)





แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวของมนุษย์เงินเงินเดือนอย่างผมแล้ว ผมพบว่า ถ้าต้องการเงินสดมากกระทันหันแล้ว ส่วนใหญ่ต้องผ่อนตั้งแต่ 1 ปีทั้งนั้น และผมคิดว่า สถาบันการเงินเขาก็มีสถิติเหล่านี้อยู่แล้วว่าส่วนใหญ่ลูกค้าผ่อนนิยมผ่อนกันกี่งวด ดังนั้น เขาจะไม่นำเสนอตารางเปรียบเทียบในทางที่เขาเสียเปรียบแน่นอน จากภาพข้างล่างจะพบว่า ตารางผ่อนคืนที่เกิน 6 เดือนนั้นจะไม่เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายกับการกดเงินจากบัตรเครดิตเลย (เพราะมันไม่เข้าทางเขา)




สำหรับกรณีนี้ ถ้าต้องใช้เงินสด และจะผ่อนคืนเกิน 6 เดือน และพร้อมจ่ายขั้นต่ำที่ 10% ผมแนะนำ 2 วิธี
 a) ให้กดเงินสดจากบัตรเครดิตที่ไม่มีหนี้ค้าง จากนั้นหยุดใช้บัตรนั้นรูดซื้อของจนกว่าจะผ่อนหนี้เงินสดที่กดออกมาจนหมด
b) ดูว่าจะมีใคร (เพื่อน ญาติพี่น้อง) ที่ทำท่าจะเอาเงินสดซื้อของอยู่แล้ว เราก็อาสาซื้อให้เขาโดยเอาบัตรเรารูด เอาเงินสดจากเขามาใช้ จากนั้นก็เอารายการที่เราเพิ่งรูดไปเข้าโปรแกรมแบ่งจ่ายรายเดือน เพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมกดเงิน แถมได้ดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอีกด้วย

3. ทำให้คิดว่า กู้สูงอีกหน่อยจะคุ้มค่ากว่า


มุกนี้มาจากที่รุ่นน้องในออฟฟิศคนหนึ่ง กำลังผ่อนรถมือสอง ลำพังเท่านี้ก็เกือบไม่พอกินอยู่แล้ว ก็มาถามผมกึ่งขอความเห็นว่า ควรจะเปลี่ยนเป็นรถป้ายแดงหรือไม่ เพราะเซลที่เป็นธุระจัดไฟแนนซ์ให้ก็มาบอกเขาว่า ถ้าผ่อนเพิ่มอีกเดือนละ 2,000 บาท ก็ผ่อนรถป้ายแดงได้แล้ว (แต่เขาก็คงมีคำตอบในใจแล้วว่า อยากได้ป้ายแดง) ผมก็เลยตอบกลับไปแบบตรง ๆ ว่า ให้ดูก่อนว่าใครเป็นคนพูดแนวคิดนี้ ถ้าไอ้คนที่พูดน่ะมันเป็นเซลขายสินเชื่อ มันก็ต้องพูดให้เข้าทางมันอยู่แล้วเพราะมันได้คอมมิชชั่นจากการปล่อยกู้ มันไม่บอกหรอกว่า ผ่อนรถป้ายแดงมันยังต้องมีค่าใช้จ่ายอื่นแฝงอีก เช่น ค่าประกันก็ต้องชั้น 1 ระยะเวลาที่ผ่อนก็นานกว่า แถมพอใช้รถไปประมาณปีที่ 4 – 5 ก็จะเริ่มมีค่าซ่อมแบบรถมือสอง ในขณะเดียวกันก็ยังต้องผ่อนแพงๆอยู่


ดังนั้น หากเราวางแผนเป็นหนี้ดี ๆ เราจะไม่เสียดอกเบี้ยต่าง ๆ จากเกินความจำเป็น และที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องมีวินัยทางการเงิน อย่าเพิ่งผลีผลามไปผ่อนอะไรโดยไม่จำเป็น อย่าเพิ่งตืนตาตื่นใจโดยไม่ไตร่ตรองกับโปรโมชั่นผ่อนต่าง ๆ แม้แต่โปรโมชั่นผ่อน 0% ก็ยังอาจจะไม่ใช่ 0% จริง แม้ผ่อน 0% จริงก็อาจจะทำให้เรามีค่าใช้จ่ายอื่นพ่วงเข้ามาโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ สุดท้ายก้ได้แต่ถามตัวเองว่า ทำไมเราหนี้เยอะจัง