Sponsor Link

วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สมัครบัตรเครดิตอย่างไรให้ผ่าน

จากบทความเรื่อง ทำไมสมัครบัตรเครดิตไม่ผ่าน ถ้าไม่มีตอนนี้ ก็คงจะเหมือนกินข้าวแล้วไม่ได้กินน้ำ ขอออกตัวก่อนเริ่มว่า ผมเองก็ไม่ทราบเป๊ะ ๆ ทั้งหมด ขอสรุปข้อมูลตามที่พอทราบมาเลยก็แล้วกันครับ

ข้อควรทราบเบื้องต้น

ต้องไม่มีประวัติเสียในเครดิตบูโร
ธนาคารจะเคร่งครัดในการพิจารณาจากข้อมูลส่วนนี้ ถ้าท่านเคยมีประวัติค้างชำระติดต่อกันตั้งแต่ 2 งวดขึ้นไป โดยทั่วไปจะพิจารณาเป็น 3 กรณี
·         ค้างชำระ แต่งวดต่อ ๆ มายังชำระหนี้หนี้ต่อเนื่อง (โดยมียอดค้างยกยอดมาอย่างต่อเนื่อง) ธนาคารมักจะให้เกรด B นอกจากช่วงโปรโมชั่นจริง ๆ ถึงจะอนุโลม
·         ค้างชำระ แต่เคลียร์ยอดหนี้ที่ค้างไปหมดแล้ว ธนาคารมักจะให้เกรด A นอกจากบางธนาคารที่เขี้ยวจริง ๆ จึงจะให้ B
·         ค้างชำระ แม้จะเพิ่งเกิดเรื่อง ถ้าไม่มีประวัติว่าเคลียร์ยอดหนี้ค้าง เรื่องราวจะจบลงเท่านี้ ไม่ต้องยื่นสมัครบัตรเครดิตให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมเอกสาร

มีเอกสารและอายุการทำงานตามที่ธนาคารระบุ
ในที่นี้ขอยกตัวอย่างสำหรับพนักงานประจำ เอกสารที่ต้องใช้คือ
1.       ใช้สลิปเงินเดือน
2.       ตัวเลขเงินในบัญชีธนาคารสวย คือ
a.       มีเงินเข้าทุกเดือน อย่างน้อยๆ 6 เดือน
b.      อย่าพรวดพลาดถอนหมดแต่วันต้น ๆ เดือน (ยกเว้นกรณีถอนไปอยู่ในบัญชีเงินฝากประจำ เราสามารถถ่ายสำเนาไปยืนยันได้)
3.       ทำงานประจำมาอย่างน้อย 1 ปี จะนับหลายที่รวมกันก็ได้ แต่ที่ทำงานปัจจุบันต้องมีโทรศัพท์พื้นฐาน (เบอร์บ้าน) ที่สามารถติดต่อได้
4.       มีที่อยู่ที่แน่นอน อย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป และต้องมีโทรศัพท์พื้นฐานที่สามารถติดต่อได้ (บางธนาคารอาจจะไม่มีเงื่อนไขนี้)

เทคนิคพิเศษที่ขอแนะนำ
ผมถือบัตรเครดิตมาหลายใบ ใบแรกคือบัตรเสริม Amex แต่บัตรที่สมัครด้วยเครดิตตัวเองครั้งแรกคือ ธนาคารบัวหลวงที่ขึ้นชื่อว่าอนุมัติยาก (พรรคพวกตะลึงว่าผ่านได้ยังไง) อันนี้จะขอยกตัวอย่างที่ผมเคยทำมาแล้วและเห็นว่าน่าจะมีส่วนช่วย

การทำหนังสืออธิบายรายได้
1.       ในกรณีเราเป็นพนักงานและยังทำงานฟรีแลนซ์  (freelance) ด้วย ควรแยกบัญชีธนาคารสำหรับรับเงินส่วนนี้ต่างหาก และยิ่งถ้ามีหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยจะยิ่งเป็นสร้างเครดิตรายได้แก่เรา
2.       การมีรายได้หลายทางและต่อเนื่อง รวมทั้งการมีบัญชีเงินออมเงิน (ฝากประจำ) ที่เงินเข้าต่อเนื่อง เราควรทำหนังสือชี้แจงรายได้เพิ่มเข้าไป อธิบายพอเข้าใจว่า รายได้ของเราโดยรวมแล้วเฉลี่ยเดือนละเท่าไหร่ มีอัตราการออมเดือนละเท่าไหร่ และมีสำเนาการเดินบัญชีแนบประกอบให้เห็น

การแสดงหลักฐานที่อยู่ที่ติดต่อได้กรณีที่อยู่ปัจจุบันไม่ตรงกับบัตรประชาชน
1.       กรณีที่อยู่ปัจจุบันไม่ตรงกับที่อยู่ในบัตรประจำตัวประชาชน ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน (เช่น อยู่กับญาติเพราะใกล้ที่ทำงาน) ถ้าที่อยู่ตามบัตรประชาชนนั้นมีโทรศัพท์บ้าน มีคนอยู่ตลอดที่สามารถยืนยันได้ว่าเราพำนักพักอาศัยอยู่ที่นั่น ก็ควรใช้ที่อยู่ตามบัตรประชาชน (อย่าลืมนัดกันกับคนที่บ้านให้เรียบร้อยก่อนสมัครบัตรเครดิตนะครับ) แล้วเลือกให้ส่งเอกสารต่าง ๆ / ที่อยู่ติดต่อสะดวกเป็นที่ทำงาน
2.       ถ้าไม่เป็นแบบที่ว่าในข้อที่แล้ว ควรแนบสำเนาใบเสร็จรับเงินค่าโทรศัพท์มือถือที่ระบุที่อยู่จัดส่งตามที่อยู่ปัจจุบันของเราไปด้วย  (เราต้องเป็นเจ้าของเบอร์ด้วยนะครับ) และควรเขียนโน้ตหรือทำเอกสารรับรองว่าเราอาศัยอยู่จริงตามเอกสารที่เราแนบไป (เจ้าหน้าที่ไม่ใช่อัจฉริยบุคคลที่จะทราบทันที)

การสร้างเครดิตบูโรที่ดีแต่ตัวเองเพื่อเพิ่มโอกาสอนุมัติ
ปกติโดยทั่วไป บัตรเครดิตที่ได้รับการอนุมัติจะได้วงเงินเริ่มต้นที่ 2 เท่าของรายได้เฉลี่ยในแต่ละเดือน แต่ถ้ามีประวัติการใช้บริการบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลในเครดิตบูโรแล้ว โอกาสที่จะได้รับวงเงินสูงสุด 5 เท่าของรายได้ก็จะเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันถ้าสมัครบัตรเครดิตตอนอายุมาก ๆ (50 ปีขึ้นไป) และไม่เคยมีประวัติเครดิตบูโรเลย บางธนาคารก็อาจจะไม่พิจารณาอนุมัติใบสมัครบัตรเครดิตเลยก็มี

แนวทางการสร้างประวัติเครดิตบูโรอย่างง่ายคือ ควรสมัครสินเชื่อส่วนบุคคลแล้วผ่อนสินค้าสักชิ้น เลือกที่จำเป็นที่สุด ถ้ามีโปรโมชั่นผ่อน 0% ก็ยิ่งดี (ดูให้ดีก่อนนะครับว่าผ่อน 0% จริงหรือหลอก) ที่แนะนำแบบนี้ก็เพราะ

·         สินเชื่อส่วนบุคคลมักจะอนุมัติง่ายกว่าบัตรเครดิต และรายได้ขั้นต่ำก็ยังต่ำกว่าเกณฑ์รายได้ของผู้สมัครบัตรเครดิต
·         ถ้าตอนสมัครบัตรเครดิตครั้งแรก มีเงินเดือนแค่ปริ่ม ๆ เกือบไม่ผ่านเกณฑ์ แล้วไม่มีประวัติในบูโรเลย ธนาคารอาจจะไม่พิจารณา ในขณะที่เงินเดือนเกือบถึงเกณฑ์ แต่เคยผ่อนอะไรต่อมีอะไรมานานแล้ว (มีทักษะบริหารการเงินได้ดี) และยอดการผ่อนในแต่ละเดือนในปัจจุบันก็ไม่สูงมาก (ไม่มีภาระหนี้มาก) ธนาคารก็มักจะอนุมัติ
·         ถ้าตอนสมัครบัตรเครดิตครั้งแรก แม้มีเงินเดือนเกินเกณฑ์แล้ว แต่อายุมาก หากเทียบกับเงินเดือนที่ควรจะได้ตอนอายุปัจจุบันแล้วยังน้อยอยู่ อาจจะถูกพิจารณาว่างานไม่มีความก้าวหน้า ไม่มีความมั่นคง แต่การมีประวัติการชำระหนี้ที่ดี ก็มีส่วนให้คะแนนการพิจารณาสูงขึ้น

สรุปส่งท้าย

ที่เขียนมา เป็นแนวทางที่ผมเคยทำมา เริ่มต้นตั้งแต่สมัครบัตรเพาเวอร์บายตั้งแต่เงินเดือนยังน้อย ๆ (ซื้อตู้เย็นใหม่ขนาดใหญ่ให้แม่และซื้อคอมพิวเตอร์มือถือ Palm ให้ตัวเอง) อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญคือ อย่าลืมว่า ควรใช้บัตรเครดิตให้เป็นประโยชน์ในการจัดการเงินของตนเอง ไม่ใช่มีบัตรเครดิตเพื่อก่อหนี้หรือสมัครบัตรเครดิตเพราะเงินไม่พอใช้ เพราะการสร้างหนี้ไม่ได้ทำให้มีเงินพอใช้ แต่ทำให้เราได้ใช้เงินตัวเองน้อยลงในอนาคตเพราะเงินของเราบางส่วนจะถูกกันไปเป็นดอกเบี้ยให้คนอื่นนั่นเองครับ

วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ทำไมสมัครบัตรเครดิตไม่ผ่าน

หลายคนคงเคยมีประสบการณ์ทำบัตรเครดิตไม่ผ่าน (รวมทั้งสมัครสินเชื่อส่วนบุคคลไม่ผ่านด้วย) ทั้ง ๆ ที่ก่อนตัดสินใจว่าจะเป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลหรือเป็นหนี้บัตรเครดิตแล้ว เราก็ดูคุณสมบัติตัวเองแล้ว เราอยู่ในเกณฑ์ จนบางคนเกิดอาการเสียเซลฟ์ พาลรู้สึกแง่ลบกับตัวเองไปเลย บางคนก็พาลเกลียดธนาคารไปเลยก็มี ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น มาดูคำตอบกันเป็นขั้น ๆ ไป

บันไดขั้นที่ 1: คุณสมบัติพื้นฐานของคนที่จะถือบัตรเครดิต
น้อยคนจะทราบว่า หลักเกณฑ์ทั่วไปนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบ็งค์ชาติ) เป็นผู้กำหนดกรอบขั้นต้นว่า คนถือบัตรเครดิตได้ ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้เท่านั้น คือ
·         มีรายได้ 15,000 บาท / เดือนขึ้นไป หรือ
·         มีเงินฝากเป็นหลักประกันเต็มวงเงิน หรือ
·         มีเงินฝากประจำกับธนาคารไม่น้อยกว่า 500,000 บาท เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน หรือ
·         มีเงินฝากออมทรัพย์ หรือลงทุนในตราสารหนี้ หรือลงทุนในกองทุนรวม ไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาท เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน

ส่วนวงเงินที่อนุมัติได้ แบ็งค์ชาติกำหนดไว้ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้เฉลี่ยในแต่ละเดือน ดังนั้น ถ้าใครมีคุณสมบัติตามที่กล่าวมาข้างต้น ถือว่าเรามีคุณสมบัติเพียงพอแล้ว

บันไดขั้นที่ 2: คุณสมบัติเพิ่มเติมของคนที่จะถือบัตรเครดิต
เนื่องจากแบ็งค์ชาติไม่ได้ห้ามธนาคารเพิ่มเติมกฎเกณฑ์อื่นที่ธนาคารเห็นว่าเหมาะสมเข้าไป ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันถูกคนสมัครบัตรเครดิตมาแหกตาธนาคารว่ามีรายได้และเกิดหนี้เสียเพราะไม่มีปัญญาใช้หนี้ที่ก่อขึ้น นอกจากนี้ยังมีกฎเกณฑ์ที่เป็นลูกเล่นทางการตลาด กฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ธนาคารเพิ่มเข้าไป ได้แก่ 

· กำหนดอายุผู้ถือบัตรเครดิตหลักต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป
· กำหนดเอกสารแสดงว่าเป็นผู้ที่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ติดต่อได้ มีเบอร์โทรศัพท์พื้นฐาน (land line) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ามีเบอร์บ้านที่ติดต่อได้
· ผู้มีรายได้ต้องมีหลักฐานแสดงที่มารายได้ เช่น เป็นพนักงานประจำ จะต้องมีสลิปเงินเดือน มีสำเนาการเคลื่อนไหวเงินในบัญชีที่รับเงินเดือนย้อนหลัง (bank statement) 3 – 6 เดือน ถ้าประกอบกิจการส่วนตัว ก็อาจจะดูประเภทธุรกิจเราว่ามีความเสี่ยงต่อการเลิกกิจการมากน้อยเพียงใด
· การกำหนดขั้นรายได้ตามอายุ เช่น ถ้าเพิ่งเริ่มทำงาน มีเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท แต่ถ้าอายุ 30 ปีขึ้นไป ต้องมีเงินเดือนตั้งแต่ 20,000 บาท 
· กำหนดระดับบัตรต่าง ๆ ตามรายได้ เช่น หรือถ้ามีรายได้ตั้งแต่ 25,000 บาท / เดือน ก็จะได้บัตรทอง บัตรแพลตตินัม (ตามแต่การทำตลาด) 
· บางธนาคารแปลกว่านั้น ถ้าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีการขอเช็คเครดิตบูโรเกิน 1 ครั้ง ก็จะปฏิเสธการอนุมัติทันที

· ห้ามเอาบัตรเครดิตไปใช้เพื่อการค้า (หมุนเงิน) ให้ใช้สำหรับการซื้อสินค้าบริการสำหรับส่วนตัวเท่านั้น

ส่วนคนที่มีเงินฝากหรือลงทุนตราสารหนี้หรือกองทุนรวมกับธนาคารนั้น ธนาคารเขาเห็นก้อนเงินอยู่ในมืออยู่แล้วก็คงไม่ต้องพิสูจน์อะไรเพิ่มเติม สำหรับวงเงินก็จะพิจารณาให้ตั้งแต่ 1 - 5 เท่าตามที่ธนาคารเห็นสมควรเช่นกัน


ดังนั้น ถ้าใครมีคุณสมบัติตามที่กล่าวมา ถือว่าเราเริ่มมีเครดิตในสายตาธนาคารที่เราเลือกจะไปเป็นหนี้เขาแล้ว แต่ยังไม่พอ ต้องอ่านตอนต่อไป การที่ท่านสมัครบัตรเครดิตแล้วธนาคารติดต่อสอบถามข้อมูลต่างๆเพิ่มเติม มันเป็นเพียงการตรวจสอบการมีตัวตนจริงของผู้สมัครและตรวจทานข้อมูลเท่านั้น ไม่ได้แปลว่าอนุมัติแล้ว แน่นอนว่าถ้าคุณสมบัติไม่ผ่านตามขั้นนี้ เจ้าหน้าที่ธนาคารก็อาจจะปฏิเสธแล้ว

บันไดขั้นที่ 3: ไม่มีประวัติเสียในเครดิตบูโร (บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด)
ทุกครั้งที่เราขอกู้เงิน (การสมัครบัตรเครดิตก็ถือเป็นการกู้ยืมอย่างหนึ่ง) เราต้องยินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวในเครดิตบูโรด้วย ดังนั้น ถ้าเรามีประวัติเสีย (ติดเครดิตบูโร) หรือไม่ผ่านการประเมินเบื้องต้นจากภาระหนี้ในรายงานเครดิตบูไรแล้ว ธนาคารก็จะปฏิเสธแต่แรก และถ้าปฏิเสธเพราะปัญหานี้ (เครดิตบูโร) ธนาคารจะต้องแจ้งเหตุผลนี้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร (แจ้งเป็นหนังสือ) เท่านั้น เนื่องจากเป็นข้อบังคับของเครดิตบูโร ถ้าธนาคารไหนแจ้งด้วย SMS เราสามารถร้องเรียนกับเครดิตบูโรได้ทันที (ข้อมูลเครดิตเป็นข้อมูลส่วนตัวเรา ก็ต้องแจ้งเราแบบส่วนตัว) ดังตัวอย่างในรูป




บันไดขั้นที่ 4: คุณสมบัติสอดคล้องกันหลักเกณฑ์อนุมัติของธนาคาร
ถ้าธนาคารไม่อนุมัติบัตรเครดิตเพราะเหตุผลอื่นนอกเหนือติดเครดิตบูโรแล้ว ก็อาจจะไม่ผ่านดัชนีชี้วัดเครดิต ซึ่งแต่ละธนาคารก็อาจจะกำหนดตัวเลขชี้วัดที่ต่างกันไป และธนาคารอาจจะแจ้งผลกับเราด้วยวิธีไหนก็ได้ที่เขาเห็นควรเพราะว่าไม่มีกฎเกณฑ์บังคับนั่นเอง รวมทั้งอาจจะไม่บอกด้วยว่าไม่ผ่านเพราะอะไร แม้แต่เจ้าหน้าที่ Call Center ก็อาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้รับทราบข้อมูลนี้เพราะมันเป็นข้อมูลส่วนตัวของเรา แต่อย่างน้อย เราก็พอทราบว่า ไม่ได้มีปัญหาจากเครดิตบูโรแน่ ๆ แต่เมื่อเราผ่านการอนุมัติแล้ว Call Center ถึงจะมีข้อมูลทุกอย่างที่ช่วยในการให้บริการเรา

สำหรับการผ่านบันไดขั้นนี้ ต้องผ่านการกระบวนการระบบให้คะแนน (credit scoring) พูดง่าย ๆ ก็คือ ข้อมูลการเงินของเราสอดคล้องกับหลักเกณฑ์พิจารณาของธนาคารสำหรับอนุมัติบัตรเครดิตหรือไม่ กว่ากระบวนการต่าง ๆ จะเสร็จสิ้นจนออกมาเป็นบัตรเครดิต (หรือออกผลว่าไม่อนุมัติ) จะใช้เวลาโดยเฉลี่ย 3 สัปดาห์ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า

การอนุมัติบัตรเครดิตเป็นงานส่วนกลาง
สาขาธนาคารไม่ได้มีหน้าที่พิจารณาอนุมัติบัตรเครดิตโดยตรง แต่มีหน้าที่เหมือนหน้าร้านและช่วยกลั่นกรองเอกสารเบื้องต้นเท่านั้น เราจึงมักพบเห็นตัวแทนรับสมัครบัตรเครดิตเปิดซุ้มรับสมัครบัตรเครดิตกันด้วย  (เป็นหน้าร้านย่อย ๆ) แต่เอกสารที่เรายื่นไปนั้น จะถูกส่งมารวมกันที่ส่วนงานบัตรเครดิตโดยเฉพาะ บางธนาคารอาจจะตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารงานบัตรเครดิตโดยเฉพาะ แต่บางธนาคารจะเป็นสายงานหนึ่งในสำนักงานใหญ่ ความถี่ในการส่งเอกสารก็แตกต่างกันไป (เขาก็ต้องบริหารต้นทุนดำเนินการเหมือนกัน)

ดังนั้น กว่าจะถึงคิวเรา ก็คงต้องใช้เวลาหน่อยล่ะครับ จึงไม่แปลกที่เราจะเคยเห็นการโพสต์คุย (บ่น) กันตามเว็บบอร์ด หรือ pantip บ้างว่ายื่นเอกสารสมัครบัตรเครดิตที่สาขาธนาคารร่วมสัปดาห์แล้ว แต่พอโทรเข้า Call center เพื่อสอบถามความคืบหน้ากลับไม่พบประวัติอะไร

บริการบัตรเครดิตเป็นผลิตภัณฑ์แบบ Mass Product
บัตรเครดิตเป็นสินเชื่อแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (บัตรเครดิตจึงมีอัตราดอกเบี้ยโหด) และเป็นการให้บริการแบบมวลชน  (คนหมู่มากเป็นผู้ใช้บริการ) ดังนั้น การพิจารณาอนุมัติก็จะเป็นหลักเกณฑ์แบบเดียวกัน ธนาคารจึงใช้ระบบไอทีช่วยประมวลผลการตัดสินใจซึ่งโดยภาพรวมจะมีความแม่นยำกว่าการใช้วิจารณญาณของเจ้าหน้าที่  (judgmental ) ระบบที่ว่าก็จะบันทึกกฎเกณฑ์และเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ โดยเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมีหน้าที่ป้อนข้อมูลเข้าระบบเท่านั้น และถ้าได้ผลลัพธ์ว่าไม่อนุมัติ ระบบก็อาจจะถูกโปรแกรมไม่บอกเหตุผลให้ทราบ (ก็มันเป็นข้อมูลส่วนตัวเรา ป้องกันเจ้าหน้าที่เอาข้อมูลไปนินทาต่อ เดี๋ยวธนาคารจะถูกลูกค้าฟ้องเอาได้ฐานเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ) 

ดังนั้น ถ้าสมัครแล้วไม่ผ่านก็ไม่ต้องรีบยื่นสมัครใหม่ครับ เพราะข้อมูลที่คีย์เข้าระบบคอมพิวเตอร์มันก็จะแบบเดิม ระบบมันก็ประมวลผลข้อมูลแบบเดิม ผลลัพธ์มันก็จะเป็นแบบเดิม โดยทั่วไปธนาคารจึงมักไม่รับพิจารณาการสมัครซ้ำที่ระยะเวลาน้อยกว่า 6 เดือน เราจึงมักได้รับคำแนะนำว่า ถ้าสมัครบัตรเครดิตจากธนาคารใดแต่ไม่ผ่าน ถ้าเราอยากได้บัตรเครดิตจากธนาคารนั้นจริง ๆ ก็ควรรอพ้น 6 เดือนไปก่อนจึงค่อยสมัครซ้ำใหม่


สรุปภาพ

ใบสมัครบัตรเครดิตที่ไม่ผ่านการอนุมัติ หรือผ่านฉลุย ไม่ได้เป็นสิ่งที่วัดคุณค่าอะไรในชีวิตเรา ก็แค่ระเบียบที่เขาตั้งไว้หรือเกณฑ์การให้คะแนนที่ใส่โปรแกรมคอมพิวเตอร์มันไม่สอดคล้องกับเราเอง ก็เหมือนเราสมัครงานแล้วเขาไม่รับเข้าทำงาน ก็ไม่ได้แปลว่าเราทำงานไม่ได้ ก็แค่ตำแหน่งงานที่เขากำหนดให้มันไม่เหมาะกับเรา (ก็เท่านั้น) 

อย่างก็ตาม ในบล็อกนี้ก็ยังพอมีแนวทางที่ช่วยให้สมัครบัตรเครดิตให้ผ่านมากขึ้น ลองอ่านดูได้ครับ




วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ทำไมดอกเบี้ยบัตร (เครดิต / กดเงิน) มันโหด

ขอออกตัวก่อนว่า ไม่ได้เข้าข้างธนาคารหรือสถาบันการเงิน ในส่วนลึกแล้วก็ยังอยากให้เขาลดดอกเบี้ยลงในกรณีที่เราจ่ายตรงเวลา ไม่เคยเบี้ยว (แบบเดียวกับประกันรถยนต์ที่เขาลดเบี้ยประกันในปีต่อไปถ้าไม่เคยมีประวัติเคลม) แต่ที่เขียนบทความนี้ก็แค่อยากให้เห็นว่า กลไกทางการตลาดทำให้คนมีรายได้น้อยต้องตกเป็นเบี้ยล่างโดยปริยาย และถูกต้องตามกฎหมายอย่างไร

การคำนวณดอกเบี้ยของสินเชื่อแต่ละแบบ
มาลองดูตารางอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อแต่ละแบบ

กลุ่มสินเชื่อ
คุณสมบัติ
อัตราดอกเบี้ย
สินเชื่อส่วนบุคคล / บัตรเงินผ่อน
เงินเดือนตั้งแต่ 8,000 – 10,000 บาทขึ้นไป
28%
บัตรเครดิต
เงินเดือนตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป
20%
ผ่อนบ้าน / ที่อยู่อาศัย
มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
7 - 8%
รถมือสอง
มีรถมือสองเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (ถ้าจำนวนงวดผ่อนชำระมากขึ้น จะมีอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น)
3 - 9%
รถป้ายแดง
มีรถใหม่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (ถ้าจำนวนงวดผ่อนชำระมากขึ้น จะมีอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น)
1 - 2%

อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มตามความเสี่ยงของคนปล่อยกู้


การกำหนดอัตราดอกเบี้ยจะอิงกับความเสี่ยงที่หนี้จะสูญ ทั้งนี้ ยิ่งมีความเสี่ยงสูงก็จะมีอัตราดอกเบี้ยสูง ดังนี้

สินเชื่อส่วนบุคคล / บัตรเงินผ่อน จะเห็นว่าดอกเบี้ยโหดสุด ทั้งนี้ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นหนี้สูญนั่นเอง เพราะกำหนดคุณสมบัติด้านรายได้ของคนกู้ที่ค่อนข้างต่ำ ดังนั้น จะมีกลุ่มลูกค้าบางส่วนในกลุ่มนี้ มีกำลังชำระหนี้ต่ำลงเช่นกัน และยิ่งกู้มามากเกินไป ก็อาจจะไม่มีกำลังจ่ายคืนคนให้กู้เลย ดังนั้น สถาบันการเงินจึงเก็บดอกเบี้ยสูงเพื่อมาชดเชยความเสี่ยงที่สูงนั่นเอง (เอาดอกเบี้ยจากคนดีและมีกำลังจ่ายมาชดเชยคนที่ไม่มีปัญญาจ่าย)

บัตรเครดิต ดอกเบี้ยจะรองลงมาจากสินเชื่อส่วนบุคคล แต่ก็เป็นไปในหลักแบบเดียวกันกับสินเชื่อส่วนบุคคล แต่คนกลุ่มนี้รายได้สูงขึ้น มีกำลังชำระหนี้สูงมากขึ้นตามรายได้ จึงมีความเสี่ยงที่จะมีหนี้สูญลดลง ดอกเบี้ยที่จะไปชดเชยกับหนี้สูญก็น้อยลงตามมา แต่ก็ยังสูงอยู่ดีเมื่อเทียบกับสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์คำประกัน


สินเชื่อผ่อนที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยต่ำกว่าจากสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์โดยทั่วไปจะมีราคาสูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป และแม้ผู้กู้ไม่สามารถชำระคืน สถาบันการเงินก็ยังมีสิทธ์เอาทรัพย์สินที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันไปขายทอดตลาดได้ แต่ระยะเวลาการผ่อนโดยทั่วไปจะนานถึง 20 – 30 ปี จึงอาจจะมีความเสี่ยงจากปัจจัยส่วนตัวของผู้กู้ เช่น การตกงาน การเสียชีวิต ประสบอุบัติเหตุถึงขั้นประกอบอาชีพไม่ได้ หรืออัตรการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ดี เป็นต้น

สินเชื่อผ่อนรถยนต์ ดอกเบี้ยต่ำกว่าจากสินเชื่ออื่น ๆ รถยนต์เป็นหลักทรัพย์ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ และโดยทั่วไปจะมีมูลค่าราคาจะลดลงเมื่อเวลาผ่าน แต่ซื้อง่ายขายคล่องกว่าอสังหหาริมทรัพย์ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยจึงต่ำสุด แม้ว่าสถาบันการเงินมีสิทธ์เอาทรัพย์สินที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันไปขายทอดตลาดได้หากคนกู้ไม่ชำระหนี้ แต่ยิ่งกำหนดระยะเวลาการผ่อนชำระที่นานขึ้น รถก็จะเก่าลงมากเช่นกัน ทำให้จะยิ่งมีอัตราดอกเบี้ยการกู้ที่สูงขึ้น (พูดง่าย ๆ คือ เมื่อมูลค่าหลักทรัพย์น้อยลง เมื่อระยะการผ่อนนานขึ้น สถาบันการเงินจะยิ่งคิดอัตราดอกเบี้ยสูงเพื่อชดเชยความเสี่ยง)

ดังนั้น จะเห็นว่า นายทุนไม่ได้เอาเปรียบประชากรภาคแรงงานเสียทีเดียว เพราะบางส่วนมันคือกลไกทางการตลาด ไม่เช่นนั้น ธนาคารต่าง ๆ ก็อาจจะเจ๊งลงได้เช่นกัน คำตอบสุดท้ายคือ มันอยู่ที่เราจะเลือกเป็นหนี้แบบไหนจึงจะฉลาด เช่น ใช้บริการโรงรับจำนำที่เสียดอกเบี้ยถูกกว่า หรือหากมีรายได้สูงขึ้น เมื่อต้องการซื้อสินค้าแบบผ่อน เราก็ควรซื้อด้วยบัตรเครดิตที่มีโปรแกรมผ่อนชำระแทนที่จะใช้บัตรเงินผ่อน หรือต้องการกู้เงินจำนวนมาก ๆ หรือต้องผ่อนนาน ๆ ก็ควรหาเงินกู้แบบมีหลักทรพย์ค้ำประกันซึ่งจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ตามที่ได้ยกตัวอย่างไว้ใน “การกู้เงินปิดหนี้แบบยอดมนุษย์เงินเดือน”  เป็นต้น ครับ