Sponsor Link

วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ทำไมดอกเบี้ยบัตร (เครดิต / กดเงิน) มันโหด

ขอออกตัวก่อนว่า ไม่ได้เข้าข้างธนาคารหรือสถาบันการเงิน ในส่วนลึกแล้วก็ยังอยากให้เขาลดดอกเบี้ยลงในกรณีที่เราจ่ายตรงเวลา ไม่เคยเบี้ยว (แบบเดียวกับประกันรถยนต์ที่เขาลดเบี้ยประกันในปีต่อไปถ้าไม่เคยมีประวัติเคลม) แต่ที่เขียนบทความนี้ก็แค่อยากให้เห็นว่า กลไกทางการตลาดทำให้คนมีรายได้น้อยต้องตกเป็นเบี้ยล่างโดยปริยาย และถูกต้องตามกฎหมายอย่างไร

การคำนวณดอกเบี้ยของสินเชื่อแต่ละแบบ
มาลองดูตารางอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อแต่ละแบบ

กลุ่มสินเชื่อ
คุณสมบัติ
อัตราดอกเบี้ย
สินเชื่อส่วนบุคคล / บัตรเงินผ่อน
เงินเดือนตั้งแต่ 8,000 – 10,000 บาทขึ้นไป
28%
บัตรเครดิต
เงินเดือนตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป
20%
ผ่อนบ้าน / ที่อยู่อาศัย
มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
7 - 8%
รถมือสอง
มีรถมือสองเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (ถ้าจำนวนงวดผ่อนชำระมากขึ้น จะมีอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น)
3 - 9%
รถป้ายแดง
มีรถใหม่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (ถ้าจำนวนงวดผ่อนชำระมากขึ้น จะมีอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น)
1 - 2%

อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มตามความเสี่ยงของคนปล่อยกู้


การกำหนดอัตราดอกเบี้ยจะอิงกับความเสี่ยงที่หนี้จะสูญ ทั้งนี้ ยิ่งมีความเสี่ยงสูงก็จะมีอัตราดอกเบี้ยสูง ดังนี้

สินเชื่อส่วนบุคคล / บัตรเงินผ่อน จะเห็นว่าดอกเบี้ยโหดสุด ทั้งนี้ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นหนี้สูญนั่นเอง เพราะกำหนดคุณสมบัติด้านรายได้ของคนกู้ที่ค่อนข้างต่ำ ดังนั้น จะมีกลุ่มลูกค้าบางส่วนในกลุ่มนี้ มีกำลังชำระหนี้ต่ำลงเช่นกัน และยิ่งกู้มามากเกินไป ก็อาจจะไม่มีกำลังจ่ายคืนคนให้กู้เลย ดังนั้น สถาบันการเงินจึงเก็บดอกเบี้ยสูงเพื่อมาชดเชยความเสี่ยงที่สูงนั่นเอง (เอาดอกเบี้ยจากคนดีและมีกำลังจ่ายมาชดเชยคนที่ไม่มีปัญญาจ่าย)

บัตรเครดิต ดอกเบี้ยจะรองลงมาจากสินเชื่อส่วนบุคคล แต่ก็เป็นไปในหลักแบบเดียวกันกับสินเชื่อส่วนบุคคล แต่คนกลุ่มนี้รายได้สูงขึ้น มีกำลังชำระหนี้สูงมากขึ้นตามรายได้ จึงมีความเสี่ยงที่จะมีหนี้สูญลดลง ดอกเบี้ยที่จะไปชดเชยกับหนี้สูญก็น้อยลงตามมา แต่ก็ยังสูงอยู่ดีเมื่อเทียบกับสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์คำประกัน


สินเชื่อผ่อนที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยต่ำกว่าจากสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์โดยทั่วไปจะมีราคาสูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป และแม้ผู้กู้ไม่สามารถชำระคืน สถาบันการเงินก็ยังมีสิทธ์เอาทรัพย์สินที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันไปขายทอดตลาดได้ แต่ระยะเวลาการผ่อนโดยทั่วไปจะนานถึง 20 – 30 ปี จึงอาจจะมีความเสี่ยงจากปัจจัยส่วนตัวของผู้กู้ เช่น การตกงาน การเสียชีวิต ประสบอุบัติเหตุถึงขั้นประกอบอาชีพไม่ได้ หรืออัตรการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ดี เป็นต้น

สินเชื่อผ่อนรถยนต์ ดอกเบี้ยต่ำกว่าจากสินเชื่ออื่น ๆ รถยนต์เป็นหลักทรัพย์ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ และโดยทั่วไปจะมีมูลค่าราคาจะลดลงเมื่อเวลาผ่าน แต่ซื้อง่ายขายคล่องกว่าอสังหหาริมทรัพย์ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยจึงต่ำสุด แม้ว่าสถาบันการเงินมีสิทธ์เอาทรัพย์สินที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันไปขายทอดตลาดได้หากคนกู้ไม่ชำระหนี้ แต่ยิ่งกำหนดระยะเวลาการผ่อนชำระที่นานขึ้น รถก็จะเก่าลงมากเช่นกัน ทำให้จะยิ่งมีอัตราดอกเบี้ยการกู้ที่สูงขึ้น (พูดง่าย ๆ คือ เมื่อมูลค่าหลักทรัพย์น้อยลง เมื่อระยะการผ่อนนานขึ้น สถาบันการเงินจะยิ่งคิดอัตราดอกเบี้ยสูงเพื่อชดเชยความเสี่ยง)

ดังนั้น จะเห็นว่า นายทุนไม่ได้เอาเปรียบประชากรภาคแรงงานเสียทีเดียว เพราะบางส่วนมันคือกลไกทางการตลาด ไม่เช่นนั้น ธนาคารต่าง ๆ ก็อาจจะเจ๊งลงได้เช่นกัน คำตอบสุดท้ายคือ มันอยู่ที่เราจะเลือกเป็นหนี้แบบไหนจึงจะฉลาด เช่น ใช้บริการโรงรับจำนำที่เสียดอกเบี้ยถูกกว่า หรือหากมีรายได้สูงขึ้น เมื่อต้องการซื้อสินค้าแบบผ่อน เราก็ควรซื้อด้วยบัตรเครดิตที่มีโปรแกรมผ่อนชำระแทนที่จะใช้บัตรเงินผ่อน หรือต้องการกู้เงินจำนวนมาก ๆ หรือต้องผ่อนนาน ๆ ก็ควรหาเงินกู้แบบมีหลักทรพย์ค้ำประกันซึ่งจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ตามที่ได้ยกตัวอย่างไว้ใน “การกู้เงินปิดหนี้แบบยอดมนุษย์เงินเดือน”  เป็นต้น ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น