Sponsor Link

วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สมัครบัตรเครดิตออนไลน์ ผ่านเว็บ ผ่านตัวแทน ผ่านธนาคาร อันไหนปลอดภัยกว่ากัน

เราคงเคยได้ข่าวเรื่องที่มีคนเอาเครื่องสกิมเมอร์ (skimmer) มาดักข้อมูลบัตร ATM หรือบัตรเครดิตแล้วแอบเอาไปถอนเงินข้ามประเทศ ตามเว็บบอร์ดก็คนที่เสนอแนะต่าง ๆ จริงบ้างไม่จริงบ้างปนเปกันไป ตั้งแต่แนวทางป้องกันที่แสนง่ายคือ ขณะกดรหัสให้เอามือบังแป้นคีย์บอร์ดหน้าเครื่อง ATM  จนถึงพยายามอธิบายความให้ดูซับซ้อนขึ้น เช่น ดูว่าช่องเสียบบัตรมีดวงไฟมั้ย (มันก็ไม่แน่เสมอไป)

คำถามหนึ่งที่คนมักกังวลแต่ไร้คนตอบชัด ๆ คือ การสมัครผ่านตัวแทนหรือผ่านเว็บไซต์มันมีความปลอดภัยต่อข้อมูลส่วนตัวเราหรือไม่ ควรทำหรือไม่ คนที่ตอบก็มีทั้งแบบใช้สมมติฐานสำนึก (คิดไปเองว่ามันน่าจะใช่) ไปจนถึงตอบแบบรู้จริง

สำหรับผมแล้ว ผมเห็นว่า หากพิจารณาถึงเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลที่สามารถเผยแพร่ข้อมูลกันได้รวดเร็วราวสายฟ้าแลบรวมทั้งรูปแบบวิธีบริหารงานในยุคปัจจุบันแล้ว ไม่ว่าจะสมัครบัตรเครดิตผ่านช่องทางไหน ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวเรามันก็ไม่ต่างกัน โดยจะขอยกมากล่าวบางประเด็นหลักที่ช่วยเป็นคำตอบให้คำถามนี้



ขั้นตอนเก็บเอกสารการสมัครบัตรเครดิตแต่ละที่ไม่ต่างกัน

ทุกขั้นตอนของการสมัครบัตรเครดิตมันก็คืองานเดินเอกสารด้วยคนแทบทั้งสิ้น ในระหว่างเส้นทางเดินเอกสารนี้ ถ้าใครจะแอบทุจริตแอบทำสำเนาข้อมูลส่วนตัวเก็บไว้จริง ๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องยาก แม้เอกสารจะไปถึงส่วนงานกลางด้านบัตรเครดิตแล้วแต่ถ้าจิตสำนึกของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานมันทำงานน้อย มันก็มีโอกาสที่ข้อมูลส่วนตัวเราจะถูกสำเนาเก็บไว้ต่างหากได้เช่นกัน มาดูขั้นตอนเดินเอกสารของการสมัครบัตรเครดิตแต่ละช่องทางดู

1. การสมัครบัตรเครดิตผ่านสาขาธนาคาร
เมื่อเรายื่นเอกสารสมัครบัตรเครดิตโดยตรงกับเจ้าหน้าที่สาขาธนาคาร เบื้องต้นเขาก็ดูว่าเอกสารครบถ้วน เรียบร้อยหรือไม่ แต่ตัวสาขาธนาคารไม่ได้เกี่ยวกับการพิจารณาอนุมัติการกู้ยืมแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (สินเชื่อส่วนบุคคล / บัตรเครดิต) ดังนั้น เอกสารต่าง ๆ จะถูกรวบรวมสะสมไว้รอคิวจัดส่งส่วนงานด้านบัตรเครดิต ช่วงรอคิวก็อยู่ที่จังหวะการส่งส่งเอกสารระหว่างหน่วยงาน ผมเคยยื่นเรื่องที่สาขา กว่าเรื่องจะถึงส่วนกลางก็ใช้เวลา  5 วันก็เคยมาแล้ว

2. การสมัครบัตรเครดิตผ่านตัวแทน
ตัวแทนทำหน้าที่ไม่ต่างจากสาขาธนาคาร เพียงแต่มันจำกัดอยู่ที่การรับสมัครบัตรเครดิตเท่านั้น นั่นก็คือ รวบรวมเอกสารการสมัครบัตรเครดิตส่งหน่วยงานกลางด้านบัตรเครดิต เนื่องจากรายได้หลักของตัวแทนก็คือคอมมิชชั่นที่มาจากจำนวนบัตรเครดิตที่ผ่านการอนุมัติ บางที่จึงมีการบริการต่าง ๆ รอบคอบและรวดเร็วกว่าหรือไม่ก็มีโปรโมชั่นพิเศษกว่าไปยื่นเอกสารสมัครเองที่สาขาธนาคารเสียอีก อย่างไรก็ตาม จะมีเจ้าหน้าที่ของตัวแทน  (บางคน) ที่อาจจะอยากได้ยอดสมัครมาก (มันมีผลต่อรายได้เขา คงไม่คิดจะโกงอะไร) ก็มักจะเชิญชวนให้ลูกค้าสมัครหลาย ๆ ใบ ถึงขั้นให้ถ่ายสำเนาเอกสารส่วนตัวไว้แล้วจัดการสมัครแทนให้เอง (ซึ่งไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง) ดังนั้น ถ้าจะสมัครผ่านตัวแทน ก็เตรียมเอกสารไว้แต่พอดี คาดข้อความสำเนาตัวเอกสารให้เรียบร้อย

3. การสมัครบัตรเครดิตผ่านเว็บไซต์
ข้อดีของการสมัครผ่านเว็บไซต์คือ มีคนมารับเอกสารถึงบ้าน แต่ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ของธนาคารหรือของตัวแทน ความปลอดภัยของข้อมูลก็ไม่ได้ต่างกัน เพราะ
- เว็บไซต์รับสมัครบัตรเครดิตของธนาคารหลายแห่ง ดูแลโดยตัวแทน
- คนที่มารับเอกสาร มักเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่ให้บริการด้านจัดส่งเอกสาร ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของธนาคาร หรือไม่ก็เป็นตัวแทนที่ที่ดูแลเว็บไซต์สมัครบัตรเครดิตของธนาคาร (ถ้าใครสมัครบัตรเครดิตผ่านเว็บ ตอนที่เขามารับเอกสารนั้น ลองแกล้งถามหาใบสมัครบัตรเครดิตเจ้าอื่นดู ผมว่าเขามีให้แน่นอน)
- เอกสารที่เขามารับนั้น ก็จะถูกรวบรวมจัดส่งหน่วยงานกลาง แบบเดียวกับระบบแบบปกติ

ผลลัพธ์การสมัครบัตรเครดิต ผ่านตัวแทน ผ่านเว็บ กับสมัครผ่านธนาคาร ก็ไม่ต่างกัน
ประเด็นนี้น่าจะตอบกันได้ว่าไม่ต่างกัน เพราะหลังจากที่สมัครบัตรเครดิตผ่านแล้ว ตัวแทนก็ไม่เกี่ยวอะไรทั้งสิ้นและไม่มีสิทธิ์มาเกี่ยวแล้ว เพราะ
1.สารพัดบริการของบัตรเครดิตตั้งแต่เราเริ่มมีบัตร จนเริ่มก่อหนี้ จนกระทั่งเราเลิกใช้บัตรเครดิต ธนาคารเป็นผู้ให้บริการ
2. สารพัดแคมเป็ญทางการตลาด ก็มาจากธนาคารที่ออกบัตรเครดิต
3. สารพัดการขายประกันภัย ทางโทรศัพท์จะมาไม่ขาดสาย ว่ากันว่า ข้อมูลมันบางส่วนมันก็น่าจะมาจากธนาคารนั่นแหละ

ธนาคารอยู่ในยุคที่ต้องยอมแบ่งปันข้อมูลเพราะการบริหารงานด้วย Sub –contract / Outsource
ธนาคารก็เป็นหน่วยงานทางธุรกิจ ก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและได้เปรียบคู่แข่ง การใช้บริการ Outsource จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่มี เพราะ
1. ธนาคารไม่ได้เก่งทุกเรื่อง
ธนาคารอาจจะวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินเก่ง แต่การมี sub contract ให้ทำงานในด้านที่ไม่เก่ง จะทำให้คงความแข็งแก่งไว้ การมีตัวแทนรับสมัครบัตรเครดิตมันก็ช่วยเป็นแขนขาให้ธนาคารมีลูกค้าเข้ามาเรื่อย ๆ และแม้ลูกค้าบัตรเครดิตเบี้ยวหนี้ ก็ว่าจ้างบริษัทภายนอกทวงหนี้

2. ธนาคารก็ต้องควบคุมค่าใช้จ่าย
การใช้บริการแบบ Outsource สำหรับบางด้าน จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าตั้งหน่วยงานเอง การมีตัวแทนรับสมัครบัตรเครดิตมันก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้เกิดลูกค้าใหม่โดยที่ไม่ต้องจ้างบุคลากรเพิ่ม และหากลูกค้าน้อยลง ก็ไม่ต้องไปรับผิดชอบหรือชดเชยอะไรให้ตัวแทน

3. ความลับไม่มีในโลก
ผมเคยทำงานเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์กับบริษัทที่รับจ้างพัฒนาระบบสารสนเทศมาก่อน ระหว่างการวิเคราะห์และออกแบบระบบ ผมมักจะพบข้อมูลที่ลูกค้าไม่อยากจะเปิดเผยให้บุคคลภายนอกทราบเสมอ และมันก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงยากนอกจากจะไว้ใจกันเท่านั้น ดังนั้น ในสัญญาจ้างพัฒนาระบบนั้น จะมีสัญญาข้อหนึ่งที่ระบุว่าไม่ให้เอาเรื่องภายในหน่วยงานลูกค้าไปเผยแพร่ให้คนอื่นทราบ (ส่วนภาคปฏิบัติจะเป็นอย่างไร ก็อีกเรื่องหนึ่ง) ธนาคารก็อยู่ในข่ายนี้ที่ไม่สามารถควบคุมการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลได้เต็มร้อย

เทคโนโลยีเครื่องสำเนาข้อมูล ภัยคุกคามข้อมูลที่ใครก็คาดไม่ถึง
ในอดีต (ก่อน พ.ศ. 2540) เครื่องถ่ายเอกสาร มันทำงานในลักษณะถ่ายภาพเอกสารแล้วพิมพ์ออกกระดาษทันที ถ้าจะถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนสัก 10 ชุด มันก็จะฉายแสงถ่ายภาพทั้งหมด 10 ครั้ง แต่ปัจจุบัน มันสแกนเก็บไว้ครั้งเดียวแล้วพิมพ์ออกมา 10 ครั้งแทน บางเครื่องยังทำหน้าที่เป็นเครื่องพิมพ์ เครื่องสแกนเอกสารออกมาเป็นไฟล์ PDF ได้ เพราะมันคือเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ดี ๆ นี่เอง และปัจจุบันก็นิยมใช้เครื่องถ่ายเอกสารแบบเช่าซื้อกันทั้งนั้น เพราะได้บริการบำรุงรักษาทำให้ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ง่ายกว่า

ถ้าใครยังไม่ถึงบางอ้อ แข็งใจอ่านต่ออีกนิด ประเด็นหลักเลยคือ คอมพิวเตอร์ในคราบเครื่องถ่ายเอกสารนี้ มันจะมีฮาร์ดดิสก์เก็บข้อมูล (ไฟล์ภาพเอกสารที่เราเอามาถ่ายสำเนานั่นแหละ) ข้อมูลมันจะค้างอยู่ในนั้น มันจะถูกลบออกต่อเมื่อฮาร์ดดิสก์มันจะเต็ม มันถึงจะเริ่มลบไฟล์ที่เก่าที่สุดออก บางที่มันยังไม่ถูกลบออก ก็อาจจะมีเหตุให้เครื่องถูกยกกลับผู้ขาย เช่น หมดสัญญาเช่าซื้อ  ผู้ขายมาบริการบำรุงรักษา ขั้นตอนเหล่านี้ ช่างอาจจะแอบ copy ไฟล์ไปก็ได้ (ทำได้ถ้าคิดจะทำ) หลายหน่วยงานรวมทั้งธนาคารเองก็ใช้บริการเครื่องถ่ายเอกสารในลักษณะนี้เช่นกัน

โดยสรุปภาพ
ไม่ต้องมากังวลแล้วว่า สมัครบัตรเครดิตผ่านตัวแทนแล้วข้อมูลจะรั่วไหลหรือป่าว ถ้ากลัวข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลมามาก ชีวิตนี้ก็ไม่ต้องไปสมัครอะไรที่ไหนเลย เพราะหลังสมัครบัตรเครดิตผ่านแล้วมันจะมีคนโทรศัพท์มาขายประกันทางโทรศัพท์แน่นอน แม้ว่าท่านจะลงทุนซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องสแกนเนอร์ และเครื่องพิมพ์มาทำสำเนาเอกสารเอง ส่งเอกสารสมัครบัตรเครดิตทางไปรษณีย์ถึงหน่วยงานกลางของธนาคารโดยตรงก็ตาม 

วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

โทรศัพท์ขายประกัน (ภัย) ผ่านบัตรเครดิต (ตอน 2/2)

จากตอนที่แล้ว มาลองดูวิธีการว่าทำอย่างไรหลังตกเป็นเหยื่อหลอกให้เราซื้อประกันแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเคยทำและได้ผลว่าไม่มีประกันหน้าไหนโทรมาระยะหนึ่งเลย


ตัวอย่างที่คนขายประกันทางโทรศัพท์หลอกให้ซื้อแบบเนียน ๆ
ตอนที่เขาโทรมาเสนอขายประกันกับผมนั้น เขาบอกว่าเป็นสิทธิประโยชน์เฉพาะสำหรับสมาชิกบัตรเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้เท่านั้น (ปัจจุบันธนาคารนี้ขายกิจการให้ธนาคารกรุงเก่าไปแล้ว) เงื่อนไขง่าย ๆ คือ จ่ายเดือนละ 300 บาท หากเราเกิดทุพพลภาพถาวร หรือเสียชีวิตจะมีการชดเชย 100,000 บาท ผมก็เห็นว่ามันน่าสนใจก็เลยทำไป พอได้รับกรมธรรม์แล้วนั่นแหละถึงกับอึ้ง

เพราะเงื่อนไขกรมธรรม์ของเขาคือ หากผมเกิดเหตุที่ทำให้ต้องมีสภาพทุพพลภาพถาวร หรือเสียชีวิต เขาจะชำระหนี้บัตรเครดิตเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ให้ตามที่ผมใช้จริง แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท คิดง่าย ๆ ถ้าก่อนตายผมไม่ได้ใช้บัตรเลย ประกันก็ไม่ต้องจ่ายอะไร แต่ถ้าผมเอากำลังเอาบัตรไปทำกำไรอยู่ สมมติรูดสัก 200,000 บาท เหล่าลูกเมียก็ยังต้องมาสู้คดีกับเงินส่วนต่างอีก 100,000 บาทอยู่ดี พอมองออกหรือยังครับว่าบริษัทประกันกับธนาคารร่วมกันหากินกับบัตรเครดิตได้สุดคุ้มเลยจริง ๆ จะเห็นว่าถ้าเทียบตามหลักกฎหมาย เขาก็ไม่ได้หลอกผมเพราะเขาบอกเงื่อนไขหลัก ๆ แล้ว แต่ที่ผมหลวมตัวซื้อเพราะมันไม่มีเอกสารให้ศึกษารายละเอียดให้ครบถ้วนนั่นเอง

หลวมตัวซื้อกับคนขายประกันทางโทรศัพท์แล้ว จะยกเลิกอย่างไร
ไม่ต้องไปกังวลจนเสียสุขภาพจิตครับ ง่าย ๆ เลย ก็ให้รอจนกรมธรรม์จะมาส่งมาถึง เมื่อได้รับแล้ว ให้ปฎิบัติตามนี้

1.       อ่านดูเงื่อนไขต่าง ๆ ก่อน (เผื่อว่ามันน่าสนใจจริงๆ) ถ้าสนใจก็เก็บไว้ และยอมจ่ายให้เกิดการหักเบี้ยประกันผ่านบัตรเครดิตไป แต่ถ้าอยากยกเลิก ให้ทำตามข้อต่อไป
2.       ทำหนังสือขอยกเลิกกรรมธรรม์ (ภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับกรมธรรม์) ในหนังสือให้ระบุหมายเลขกรมธรรม์ โดยทั่วไปเขาจะให้แฟ็กซ์ไปพร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนและส่งกรมธรรม์กลับคืนให้เขา
3.       ทำหนังสือส่งถึงผู้บริหารสูงสุดของบริษัทประกันและธนาคารผู้ออกบัตร โทษฐานสร้างความวุ่นวายให้ โดยระบุว่า ห้ามเสนอขายสินค้าและบริการใด ๆ กับเราทางโทรศัพท์อีก (บริษัทประกันภัยเดิมไม่ติดต่อมาอีก 6 เดือน แต่ไม่ได้แปลว่าธนาคารจะให้บริษัทอื่นติดต่อไม่ได้) ส่งให้ทางไปรษณีย์เลย ถ้าสามาถระบุชื่อตำแหน่งเป๊ะ ๆ ได้ยิ่งดี (หาดูตามเว็บไซต์ขององค์กรเขานั่นแหละ)

ผมเคยทำวิธีข้างต้นแล้ว เสียงโทรศัพท์ขายประกันมันเงียบหายไประยะหนึ่งเลยทีเดียว

ตัวอย่างหนังสือขอยกเลิกกรมธรรม์
พิมพ์หนังสือดังตัวอย่างนี้ และทำสำเนาไว้ 2 ชุด

วันที่ ...
เรื่อง ขอยกเลิกกรมธรรม์
เรียน  ฝ่ายบริการลูกค้า บริษัท ชั่วร์อินชัวรั้น จำกัด
สิ่งที่แนบมา      
1. สำเนากรมธรรม์
                        2. สำเนาบัตรประชาชน

ตามที่ข้าพเจ้า นายถูกหลอก เครดิตดี ได้ตกลงทำประกันภัย ของบริษัท ชั่วร์อินชัวรั้น จำกัด (บริษัท) ซึ่งมีกรมธรรม์เลขที่ xyz1234 และอนุญาตให้หักเบี้ยประกันภัยผ่านบัตรเครดิตเลขที่ 1234 5678 9101 1121 ซึ่งออกธนาคารกรุงเก่า (บัตรเครดิต) เนื่องจากข้าพเจ้าได้พิจารณาเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์แล้วพบว่า ณ ขณะที่บริษัทเสนอขายทางโทรศัพท์นั้น ข้าพเจ้าเข้าใจเงื่อนไขต่าง ๆ ได้ไม่ครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ดังเอกสารที่แนบมา

โดยหนังสือนี้ ข้าพเจ้าจึงขอยกเลิกกรมธรรม์ดังกล่าว และขอยกเลิกการหักค่าใช้จ่ายใด ๆ ผ่านบัตรเครดิตอันเนื่องมาจากกรมธรรม์นี้ ทั้งนี้ข้าพเจ้าจะดำเนินการส่งคืนกรมธรรม์ให้กับบริษัทต่อไปทางไปรษณีย์
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและดำเนินการ

ขอแสดงความนับถือ

(นายถูกหลอก เครดิตดี)

ตัวอย่างหนังสือร้องเรียนผู้บริหารสูงสุด
ให้ทำหนังสือที่มีเนื้อแบบเดียวกัน 2 ฉบับ แยกส่งไปคนละที่ จะแนบสำเนากรมธรรม์ไปด้วยก็ได้ จะแนบสำเนาบัตรประชาชนไปด้วยก็ได้เพื่อเพิ่มความรู้สึกว่าเราเอาจริง ดังนี้

วันที่ ...
เรื่อง ห้ามนำเสนอการขายทางโทรศัพท์
เรียน  1. กรรมการผู้จัดการใหญ่ / ผู้บริหารสูงสุด บริษัท ชั่วร์อินชัวรั้น จำกัด
         2. กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเก่า
สิ่งที่แนบมา       1. สำเนาหนังสือแจ้งยกเลิกกรมธรรม์
2. สำเนากรมธรรม์
                        3. สำเนาบัตรประชาชน
                       
ตามที่ข้าพเจ้า นายถูกหลอก เครดิตดี ได้ขอแจ้งยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย ของบริษัท ชั่วร์อินชัวรั้น จำกัด (บริษัท) เลขที่ xyz1234 และแจ้งยกเลิกการหักเบี้ยประกันภัยผ่านบัตรเครดิตซึ่งออกธนาคารกรุงเก่า (ธนาคาร)  เนื่องจากข้าพเจ้าไม่สามารถเข้าใจเงื่อนไขต่าง ๆ ได้ครบถ้วนทางโทรศัพท์ได้ ดังรายละเอียดในเอกสารแนบนั้น

ดังนั้น ข้าพเจ้าขอให้บริษัทและธนาคารได้ยุติการนำเสนอการขายใด ๆ แก่ข้าพเจ้าทางโทรศัพท์โดยเด็ดขาด หากยังคงเกิดเหตุการณ์เช่นที่ผ่านมาอีก ข้าพเจ้าจะถือว่าทั้งบริษัทและธนาคารเพิกเฉยต่อการร้องเรียนของลูกค้า และอาจจะยกเลิกการใช้บริการที่มีอยู่ รวมถึงจะไม่พิจารณาใช้บริการอื่นใดจากบริษัทและธนาคารที่อาจจะมีในอนาคต

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและดำเนินการ
ขอแสดงความนับถือ

(นายถูกหลอก เครดิตดี)


หวังว่าบทความทั้งตอนที่แล้วและตอนนี้จะช่วยให้ท่านพ้นจากการเป็นเหยื่ออันโอชะของคนขายประกันทางโทรศัพท์ได้นะครับ

โทรศัพท์ขายประกัน (ภัย) ผ่านบัตรเครดิต (ตอน 1/2)

คาดว่าหลายคนคงเคยมีประสบการณ์ที่มีคนโทรศัพท์มาขายประกันทางโทรศัพท์โดยหักค่าใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ผมเองก็คนหนึ่งที่เคยหลวมตัวทำไปแล้ว หลายคนก็มีความเข้าใจที่แตกต่างกันไป จึงขอนำมาเขียนให้อ่านในแต่ละแง่มุม

โทรศัพท์ขายประกันของแท้ไม่น่ากลัว
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ออกระเบียบในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางช่องทางโทรศัพท์ไว้ ตามประกาศของ คปภ. ลงวันที่ 18/5/2552 (ถ้าไม่ทำตามดังต่อไปนี้ แนวโน้มเป็นโบรกเกอร์ของปลอม) เงื่อนไขสำคัญที่ควรทราบคือ
1.      เสนอขายได้ในช่วงวันจันทร์-เสาร์ ระหว่างเวลา 08.30-19.00 น. เท่านั้น
2.      เริ่มต้น คนเสนอขายต้องแจ้งชื่อ-นามสกุล เลขที่ใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัย พร้อมทั้งแจ้งว่า เป็นการขายประกันภัย (แต่ส่วนใหญ่เท่าที่เจอจะอ้อมแอ้มหรือชวนคุยเรื่องอื่น เราก็ตามตรง ๆ เลยว่าเสนอขายประกันภัยหรือป่าว)
2.1    ถ้าเราไม่อยากรับฟังต่อ เขาต้องยุติการสนทนาทันที และไม่ติดต่อกลับอย่างน้อย 6 เดือน ในกรณีที่เราต้องการทราบว่า ได้ข้อมูลติดต่อของเรามาได้ยังไง คนเสนอขายประกันต้องตอบที่มาของข้อมูลก่อน จึงจะวางสายได้ (แต่ส่วนใหญ่จะรีบวางสายแต่แรกก่อนโดนเราถาม)
2.2    ถ้าเราสนใจจะรับฟังการเสนอขาย คนเสนอขายจะต้องขออนุญาตบันทึกการสนทนาทุกครั้ง (บทสนทนาที่บันทึกไว้นั้นสามารถนำมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงภายหลังได้กรณีเกิดข้อโต้แย้งขึ้น)
3.      แม้เราหลวมตัวตอบตกลงทำประกันภัย (ทางโทรศัพท์) แล้ว เราสามารถยกเลิกกรมธรรม์ได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับกรมธรรม์ และต้องได้รับเบี้ยประกันภัยคืนเต็มจำนวน โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น (เท่าที่เคยหลวมตัวมา มันจะยังไม่ตัดค่าใช้จ่ายจากบัตรเครดิตทันที)
4.      บริษัทที่รับทำประกันภัยนี้ต้องโทรกลับหาผู้เอาประกันภัยอีกครั้ง ภายใน 7 วันนับจากวันที่บริษัทส่งกรมธรรม์ เพื่อยืนยันความต้องการทำประกันภัยอีกครั้ง (เท่าที่เคยเจอ ไม่เห็นโทรมาเลย อาจจะเป็นเพราะผมแจ้งยกเลิกเสียก่อน)
5.      ในภาพรวมการสนทนาแล้ว คนขายต้องอธิบาย เรื่องต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย
5.1    ชื่อ เบอร์โทร คนขาย
5.2    สรุปผลประโยชน์ และ ข้อยกเว้น (ส่วนใหญ่บอกไม่หมด หรือบอกหมดแบบให้เราเข้าใจผิด)
5.3    เบี้ยประกัน ระยะเวลาชำระ ระยะเวลาคุ้มครอง
5.4    วิธีชำระเบี้ย วันที่เริ่มคุ้มครอง
5.5    แจ้งสิทธิการยกเลิกได้ภายใน 30 วัน ยกเว้น
5.6    เมื่อเราตกลงทำ เราจึงค่อยแจ้งชื่อ - สกุล –เลขบัตรประชาชนของเรา (ถ้าจู่ ๆ ก็ถามชื่อ – เลขที่บัตรเรา แสดงว่ากำลังถูกมัดมือชกให้ทำแล้ว)

เขาขายประกันแบบไหน
ประกันที่เสนอขายโดยทั่วไปจะเป็น
·       ประกันอุบัติภัย
·       ประกันสุขภาพ
·       ประกันสินเชื่อ (จ่ายหนี้บัตรเครดิตให้เผื่อเรามีอันเป็นไป)

เขาขายประกันอย่างไร
เท่าที่ประสบมา มักจะตะล่อมถามเรื่องอื่นก่อน แล้วจะหลอกให้เราซื้อแบบเนียน ๆ โดยถามคำถามที่ให้เราตอบแบบเข้าทางเขา เช่น
·       เงื่อนไขที่เขานำเสนอน่าสนใจมั้ย
·       แพงมั้ยเมื่อเทียบกับความคุ้มครอง
·       ควรมีไว้มั้ย เผื่อมีเหตุฉุกเฉิน
·       มีบริการตัดบัตรค่าใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตให้ด้วยเพื่อการคุ้มครองจะไม่ขาด คุณว่าดีมั้ย

ถ้าเราตอบแบบเห็นด้วยว่า ใช่เลย น่าสนใจ เขาจะถามวิธีสะกดชื่อ นามสกุล ของหมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขบัตรเครดิต ที่อยู่ ดังนั้นถ้าเขาถามแบบนี้เมื่อไหร่และเราไม่คิดจะทำแน่ ๆ ก็ไม่ต้องบอกข้อมูลเหล่านี้แก่เขา

จะต่อกรกับการขายประกันแบบนี้อย่างไร
ง่าย ๆ เลยก็คือว่า ถ้าไม่คิดจะทำ ก็ไม่ต้องไปตอบในทางเห็นด้วย เช่น “สนใจ น่าสนใจ ตกลง” หรือทันทีที่เขาบอกว่า กำลังจะแจ้งสิทธิประโยชน์ เราก็ตัดบทไปเลยว่า ไม่สนใจ ไม่ว่าเขาจะอธิบายอะไร เราก็ตอบคำเดียวว่ายังไม่สนใจ เพราะโดยทั่วไปเขาจะเริ่มต้นด้วยคำพูดประมาณว่า เขากำลังจะแจ้งสิทธิประโยชน์แก่เราในฐานะสมาชิกบัตรเครดิต ผมรับรองเลยว่า มันเป็นการขายประกันแน่นอน เพราะถ้าเป็นโปรโมชั่นจากธนาคารที่ออกบัตรจริง เขามักส่ง sms หรือโบรชัวร์มาให้เราทางไปรษณีย์แล้ว

จงจำไว้เลยว่า คำตอบแบบเออออห่อหมกของเรานี่แหละครับ มันคือคำอนุญาตให้บริษัทประกันสามารถหักค่าเบี้ยประกันภัยผ่านบัตรเครดิตได้ การชำระเบี้ยประกันโดยหักจากบัตรเครดิตที่เราถืออยู่ไม่เพียงแต่เป็นเป็นการประกันว่าบริษัทประกันจะได้รับการชำระเบี้ยประกันเท่านั้น ในขณะเดียวกันมันยังเป็นการย้ายเจ้าหนี้จากบริษัทประกันให้เป็นธนาคารที่ออกบัตรเครดิตโดยปริยาย เพราะถือว่าเจ้าของบัตรยินยอมชำระค่าเบี้ยประกันผ่านบัตรเครดิตแล้ว ถ้าเราไม่จ่ายค่าบัตรเครดิตส่วนนี้ก้เข้าข่ายไม่ชำระหนี้บัตรเครดิต ก็เตรียมติดประวัติเสียในเครดิตบูโรได้เลย ตามที่ผมเคยเขียนไว้ในหัวข้อ “บัตรเครดิตสุดคุ้ม pantip


สำหรับใครที่หลวมตัวตอบตกลงไปแล้ว สามารถแก้ไขได้โดยอาศัยอำนาจระเบียบที่ คปภ. ที่กล่าวไว้แต่แรก เชิญอ่านได้ในตอนที่ 2 ครับ

วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

การกู้เงินปิดหนี้แบบยอดมนุษย์เงินเดือน

หลายท่านคงเคยดูหนังเรื่อง “สุดยอดมนุษย์เงินเดือน” จะพบสภาพเหมือนชีวิตจริงของใครหลายคน (รวมทั้งผู้เขียนบทความคนนี้ด้วย) ที่มัวแต่ยุ่งเรื่องงานจนไม่มีเวลาให้กับความฝันของตัวเอง และเคยชินกับระบบเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน สิ่งที่ไม่ได้เอ่ยถึงในหนังเรื่องนี้คือการจัดการหนี้บัตรเครดิตอย่างมีชั้นเชิงนอกจากก้มหน้าก้มตาผ่อนกันไปตามอัตภาพ และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้หลุดพ้นจากบ่วงหนี้ที่รัดตัว

ในที่นี้จะขอนำเสนอมุมมองโดยสรุปเติมสักเล็กน้อยสำหรับการพิจารณากู้หนี้มาปิดหนี้ครับ

สิ่งที่ต้องพิจารณาสำหรับการกู้หนี้มาปิดบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล
1. การยืมเงินเพื่อนหรือญาติพี่น้อง
วิธีนี้มักไม่มีดอกเบี้ยอะไรเลย นอกจากสินน้ำใจกันเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ต้องไม่ลืมว่าหากวันใดที่เพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้องเขาต้องการใช้เงินแต่ตอนนั้นท่านไม่มีเงินไปใช้หนี้ ท่านอาจจะติด black list ในลักษณะผิดใจกัน รับรองว่ามันจะติดตราบนานเท่านานที่เขายังมีชีวิตอยู่ (ไม่เหมือนกับเครดิตบูโรที่เก็บรายการไว้แค่ 3 ปี)
ดังนั้น ไม่ว่าเขาเหล่านั้นไม่เคยมาทวงเงินก็ตาม แต่การยืมแล้วไม่มีทีท่าว่าจะคืนเขาได้เมื่อไหร่นั้น คงเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น มันจะเสียเครดิตชีวิตซึ่งสำคัญว่าเครดิตบูโรเสียอีก

2. การใช้สินทรัพย์มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อที่ใช้บ้านค้ำประกันจะถูกที่สุด รองลงมาเป็นสินเชื่อที่ใช้รถค้ำประกัน สองสิ่งนี้จะสามารถเปลี่ยนหนี้อัตราดอกเบี้ยสูงของบัตรเครดิตให้กลายเป็นหนี้ดอกเบี้ยต่ำลง ทำให้ได้ระยะการผ่อนต่อเดือนน้อยลง และมีระยะการผ่อนที่นานขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้วิธีนี้จะทำให้ได้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำลง แต่ปริมาณดอกเบี้ยโดยรวมจะมากขึ้นเพราะการผ่อนที่ยาวนานและคำนวณจากก้อนหนี้เงินต้นที่สูงขึ้นนั่นเอง (เรียกว่า กินดอกเบี้ยน้อย ๆ แต่กินนานๆ)  

3. ธรรมชาติของธนาคารคือการกลัวหนี้เสีย
ในบทความเรื่อง “บัตรเครดิต คุ้มสุด pantip” ผมได้กล่าวตอนท้าย ๆ ว่า โดยปกติทั่วไปแล้วธนาคารจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้คืนด้วย ผมเคยพบคำแนะนำว่ายอดชำระหนี้ต่อเดือนไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน หากเกินจากนั้นธนาคารมักจะไม่อนุมัติสินเชื่อได้แม้จะมีบ้านหรือรถยนต์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ตาม

ดังนั้น ใครที่เคยสงสัยว่าเงินเดือนสูงแต่ทำไม่สมัครบัตรเครดิตไม่ผ่าน หรือทำไมดอกเบี้ยบัตรเครดิตมันโหด ส่วนหนึ่งมันก็มาจากการประเมินความเสี่ยงของเกิดหนี้สูญของธนาคารนั่นเอง ผมจึงแนะนำว่าหากต้องการใช้บริการสินเชื่อที่ดอกเบี้ยไม่สูงและและไม่ต้องการมีประวัติการชำระหนี้ในเครดิตบูโรแล้ว ให้ใช้บริการโรงรับจำนำแทนในบทความเรื่อง “แนวทางลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ภาคปฏิบัติ


4หาสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีโปรโมชั่นดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนนาน
อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อส่วนบุคคลโดยทั่วไปคือ 28% ต่อปี แต่ถ้ากู้ในจำนวนที่มาก ก็มักจะมีโปรโมชั่นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ให้ผ่อนยาวกว่า และมักจะปิดยอดในช่วง 1 – 2 ปีแรกไม่ได้ อย่างไรก็ดี มันเป็นการกู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยที่ได้ก็ยังสูงอยู่ดี (ประมาณ 19% ขึ้นไป) ดังนั้น ก็เอาวิธีปิดหนี้บัตรเครดิตด้วยสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นทางเลือกสุดท้ายก็แล้วกันครับ

หลายคนคนที่เป็นหนี้เพิ่มขึ้นเพราะไม่สำรวจตนเอง
ในความเป็นจริงของชีวิตเรานั้น บางครั้งมันก็มีเรื่องจำเป็นต้องก่อหนี้ก้อนใหม่กระทันหัน แม้พยายามประหยัดแล้วแต่สถานการณ์รอบตัวมันก็อาจจะไม่เป็นใจ ดังนั้น ถ้าประเมินแล้วว่าผ่อนหนี้ไม่ไหวจริงๆ ก็ควรรีบหาแนวทางแก้ไขแต่เนิ่น ๆ แม้อาจจะมีทางเจรจาขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับทางเจ้าหนี้ได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเจ้าหนี้จะยอมเจรจาทุกครั้ง ยิ่งกว่านั้นถ้าเคยมีประวัติการการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในเครดิตบูโรแล้ว กว่าจะรอให้ประวัติถูกลบก็คงต้องรออย่างน้อย 3 ปี ระหว่างที่รอนั้น การขอสินเชื่อต่าง ๆ มักจะเป็นไปได้ยากขึ้น

ดังนั้น ก่อนที่หนี้ใหม่จะเกิดขึ้น การเตรียมการไว้ล่วงหน้าก็เป็นสิ่งที่ดีกว่า เช่น การมีเงินสำรองเพียงพอจะได้ไม่ต้องไปกู้ยืมเพิ่มให้เสียดอกเบี้ยอีก ซึ่งผมได้เคยแนะนำไว้ในบทความเรื่อง “หนี้บัตรเครดิตไม่บาน

จะเห็นว่า ถ้าเราไม่ระวังแล้ว เมื่อเราได้เป็นยอดมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้สูงขึ้น เราก็จะมีความสามารถในการก่อหนี้เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น แทนที่เงินเดือนสูงจะทำให้เรามีคุณภาพชีวิตดีขึ้น จะกลายเป็นว่าเราเครียดมากขึ้นเพราะหนี้ที่เราสร้างขึ้นมานั่นเอง

หนี้บัตรเครดิตไม่บาน

ผมมักจะพบคำค้น “บัตรเครดิต pantip” ในกูเกิล เมื่อตามไปอ่านก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งอยากรู้วิธีสมัครบัตรเครดิตอย่างไรให้ผ่าน ในทางกลับกันก็จะมีกคนอีกกลุ่มที่เผลอเป็นหนี้บัตรเครดิตจนผ่อนชำระไหวจนเสียสุขภาพจิต ในที่นี้จะขอนำเสนอมุมมองที่เหมาะสมในการจัดการกับหนี้บัตรเครดิต การจั่วหัวข้อบทความมาแบบนี้จึงไม่ได้แปลว่าบัตรเครดิตเป็นผู้ร้ายอะไร

การจัดการหนี้บัตรเครดิตให้อยู่
1. กู้หนี้ใหม่มาปิดหนี้บัตรเครดิตแบบถูกวิธี
โดยทั่วไปมีคำแนะนำว่าให้หยุดสร้างหนี้เพิ่มพร้อมกับการหยุดใช้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดทุกใบ แล้วค่อยๆ ปิดยอดไปทีละใบโดยปิดหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน แล้วไล่ตามลำดับลงไป ดังนั้น ถ้าจ่ายขั้นต่ำไหวก็จ่ายไปก่อน

วิธีลดความวุ่นวายอีกวิธีคือ การกู้หนี้ใหม่มาปิดบัตรหนี้บัตรเครดิตใบเดิม วิธีนี้จะใช้ได้ดีเมื่อตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า ได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าหรือแม้อัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม ก็จะต้องได้ระยะการผ่อนที่ยาวขึ้น และที่สำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ต้องทำให้สามารถยุติการจ่ายหนี้เดิมได้และหยุดสร้างหนี้ใหม่ได้ จะด้วยยกเลิกการใช้บัตรเครดิตหรือกลเม็ดใด ๆ ที่ทำให้หยุดใช้บัตรได้ ซึ่งผมเคยยกตัวอย่างไว้ใน “ประสบการณ์ปิดหนี้บัตรเครดิตด้วยสินเชื่อส่วนบุคคล

2. ทำบัญชีรายรับรายจ่าย
สมัยนี้แม้ในในสมาร์ทโฟนก็ยังมีโปรแกรมตารางคำนวณให้ใช้งาน (โปรแกรมแบบ Excel) อย่าเอาแต่ใช้เล่นไลน์ (Line) กับ Facebook เอาอุปกรณ์ที่แสนแพงนี้มาใช้ให้คุ้มค่าครับ ลองบันทึกรายรับ (เงินเดือนหลังหักประกันสังคม ภาษี ณ ที่จ่ายและเงินจ่ายเข้ากองทุนเลี้ยงชีพแล้ว) เปรียบเทียบกับรายจ่ายทั้งเดือนดู มันจะทำให้เราเห็นชัดเลยว่าเราควรควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างไร เงินพอใช้มั้ย จะได้ลดการสร้างหนี้โดยไม่จำเป็นและควบคุมการใช้จ่ายในแต่ละวันของเราได้ดี

3. ประเมินความจำเป็นของการบริโภค
ทุกวันนี้เราจะเห็นแทบทุกคนก้มหน้าก้มตาเล่นสื่อสังคมออนไลน์ (social media) บนโทรศัพท์มือถือตลอดเวลาขณะเดินทาง เช่น ขณะรอรถเมล์ ตอนอยู่ในรถไฟฟ้า หลัก ๆ เห็นจะเป็น Line กับ Facebook   (แต่ไม่ยักกะคุยกับคนนั่งข้าง ๆ) ผมไม่ได้ต่อต้านสิ่งเหล่านี้แต่คิดว่ามันมากเกินไปและมันก็มีค่าใช้จ่ายสำหรับสิ่งเหล่านี้ด้วย

มันมีค่าใช้จ่ายหลายอย่างที่ไม่จำเป็นและเราจ่ายตามความเคยชิน (ภาษาฝรั่งเรียกว่า late factor เปรียบได้กับการที่ต้องกินกาแฟลาเต้ทุกเช้าก่อนเข้าทำงานของคนในประเทศทางตะวันตก) เช่น หลังกินข้าวเช้าต้องมีกาแฟสด ระหว่างมื้อกลางวันต้องกินน้ำอัดลม หลังข้าวเย็นต้องมีขนมหวาน หรือหลังเลิกงานต้องเดินไปเที่ยวในห้างแล้วก็อดใจช้อปปิ้งไม่ได้ ถ้าเราลดสิ่งเหล่านี้ได้ก็ลดค่าใช้จ่ายได้ลงมากแหละครับ

4. ระวังการฉีกแบ็งค์ 20 ทิ้งทุกวัน
ไอเดียนี้มาจากการฟังสัมมนาเกี่ยวกับการจัดการเงิน โดยวิทยากรให้ผู้รับการอบรมหยิบแบ็งค์ 20 ออกมาชู จากนั้นก็บอกให้ทุกคนฉีก ปรากฎว่าไม่มียอมฉีกซักคน แต่วิทยากรบอกว่าแท้จริงหลายคนฉีกทิ้งทุกวัน
ความหมายก็คือ เราจ่ายเงินซื้อของแต่เราใช้ประโยชน์ได้ไม่หมด เช่น ซื้อผลไม้มากินระหว่างทำงานแต่เรากินไม่หมดแล้วเราก็ต้องโยนทิ้งไป กินข้าวตามร้านอาหารตามสั่งแต่ก็กินไม่หมดมันก็ถูกทิ้งไป ท่านก็ลองคิดดูว่า ท่านทิ้งอะไรโดยเปล่าประโยชน์บ้างในแต่ละวัน

พฤติกรรมการฉีกแบ็งค์ 20 ทิ้งทุกวันอีกอย่างที่เรามักคิดไม่ถึงก็คือโปรโมชั่นทางการตลาดที่ทำให้เราซื้อของมากเกินกว่าที่เราใช้จริง เช่น บริการอินเทอร์เน็ตที่มักมีโปรโมชั่นว่า จ่ายเพิ่มอีกนิดแต่ได้ความเร็วเพิ่มเท่าตัว แต่ในความเป็นจริงเราอาจจะไม่ต้องการความเร็วมากขนาดนั้น เราเองก็มักทำงานอยู่นอกบ้านมากกว่า เราจึงมีเวลาใช้งานไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเงินที่จ่ายไป

5. หาทางเพิ่มรายได้ด้วยตนเองอย่างคนมีกึ๋น
ในสังคมคนทำงานยุคใหม่สไตล์มนุษย์เงินเดือน เคยชินกับการมีเงินมาเข้าบัญชีเงินฝากทุกเดือน มนุษย์เงินเดือนจึงมักใช้เวลาว่างไปกับการพักผ่อนหรือไม่ก็ใช้เวลาว่าเพื่อความบันเทิงเริงใจมากกว่าจะมากังวลว่าจะมีเงินใช้หรือไม่ ดังนั้น พอมีหนี้บัตรเครดิต จึงมักแก้ปัญหาด้วยการกู้เงินจากแหล่งใหม่มาชำระหนี้เดิม ในขณะเดียวกันนั้น เงินเดือนก็มักไม่ได้เพิ่มขึ้นมา ถ้าหากทำผิดวิธีมันก็จะเป็นการเพิ่มหนี้ ทำให้เกิดปัญหามีหนี้สะสมเพิ่มขึ้นตามมา

ดังนั้น หากต้องการมีรายได้เพิ่ม ก็คงไม่ใช่ไปขอเงินเดือนเพิ่ม แต่ต้องทำงานมากขึ้น เช่น ทำโอที (งานล่วงเวลา) หรือหาอาชีพเสริมที่ไม่มีข้อผูกพันต่อเนื่อง เช่น เป็นวิทยากรสอนคอมพิวเตอร์ จ้างสอนหนังสือให้กับเด็ก เขียนบทความตามเนื้อหาที่เราถนันลงบล็อกแล้วหาแบนเนอร์โฆษณามาแปะ เราก็จะมีเงินมาชำระหนี้มากขึ้น ๆ หรืออย่างน้อย ก็มีเงินสำหรัลใช้มากขึ้น

6. อย่ายึดติดกับทรัพย์สินที่ไม่ก่อประโยชน์
ผมได้ไอเดียนี้ตอนเดินตลาดนัด เจอคนเอาหนังสือมาขายเล่มละ 5 -10 บาท จากราคาเดิมหลักร้อย สอบถามจึงได้ความว่าเขาชอบอ่าหนังสือ ที่เอามาขายนี่เขาอ่านหมดแล้วเลยเอามาขายทิ้ง ผมว่าแต่ละคนก็น่าจะมีของสะสมต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้แล้ว เช่น เสื้อผ้า รองเท้า หนังสือเก่า ๆ ที่อ่านแล้ว ผมว่าถ้าเอาของเหล่านี้มาขายได้เงินแล้ว นอกจากได้ตังค์แล้วยังลดภาระการเก็บรักษาดูแลอีกด้วย

บัตรเครดิตโดยตัวอันเองเป็นกลาง ส่วนจะเป็นคุณเป็นโทษมันจึงขึ้นอยู่กับผู้ใช้ การใช้จ่ายแบบมีวินัยต่างหากเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ถ้าใช้แบบตามใจอยากหรือเคลิ้มกับโปรโมชั่นต่าง ๆ เมื่อไหร่มันจะสร้างปัญหาเมื่อนั้นทันที จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมคนเดี๋ยวนี้เป็นหนี้กันมาก

วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

บัตรเครดิต คุ้มสุด pantip

ที่มาของชื่อบทความนี้ มาจากการที่ผมมักจะพบคำถามในลักษณะนี้ใน Google ยังไม่รวมพวก “บัตรเครดิตที่ไหนดีสุด” หรือ “บัตรเครดิตธนาคารไหนดีที่สุด” และหากตามไปดูใบเว็บบอร์ดต่าง ๆ แล้ว คำตอบที่ได้ก็จะหลากหลายมากและมันก็ไม่ใช่คำตอบที่ผิด ทั้งนี้เพราะความคุ้มสุดนั้นมันอยู่ที่อยู่ที่สไตล์ชีวิตของคนที่ตอบในกระทู้ที่เขาเห็นว่าควรจะสมัครบัตรเครดิตใบไหนดี ไม่ว่าจะเป็น pantip หรือเว็บอะไรก็ตาม 

จากประสบการณ์ใช้บัตรเครดิตมาหลายปี ผมคิดว่า คนที่คุ้มสุดคือ คนออกบัตรเครดิต (ธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ) รองลงมาคือร้านค้าที่รับบัตรเครดิตหรือไม่ก็บริษัทประกัน (ส่ง) ภัย (มา) ที่มักมาเสนอขายทางโทรศัพท์โดยหักเบี้ยประกันผ่านบัตรเครดิต และคนที่คุ้มน้อยสุดจนถึงขั้นเจ็บตัวคือ คนใช้บัตรเครดิต ดังนั้น หลายคนที่กำลังตั้งคำถามต่อไปว่าจะสมัครบัตรเครดิตอย่างไรให้ผ่าน (เพราะคิดว่าจะยกระดับความน่าเชื่อถือของคนเอง) ให้ลองมาดูว่าเพราะอะไรผมถึงกล่าวแบบนี้

ใครที่คุ้มสุด

ธนาคาร/สถาบันการเงินที่ออกบัตร
ในเบื้องต้นแม้ทุกคนที่ใช้บัตรเครดิตจะจ่ายครบเต็มจำนวนในใบแจ้งหนี้ ไม่เสียดอกเบี้ยเลย แต่ผู้ให้บริการบัตรเครดิตจะได้ค่าธรรมเนียมเฉลี่ย 2 - 3% จากยอดที่รูด และบางครั้งธนาคารที่ออกบัตรก็ออกแคมเป็ญให้กับร้านค้าเอง เช่น หากมียอดรูดในร้านมากขึ้น จะได้รับส่วนลดค่าธรรมเนียมที่หัก บางครั้งเราจึงมักเห็นโปรโมชั่นว่า ถ้าซื้อสินค้าโดยจ่ายด้วยบัตรเครดิตธนาคารนั้น หรือจ่ายค่าสินค้าด้วยบัตรเครดิตที่ห้างนั้น จะมีส่วนลดพิเศษ ราคาจะลดลงได้อีก เป็นต้น นี่ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมรายปีที่เก็บจากผู้ถือบัตร (แม้จะมีบางคนไปขอเวฟได้ก็ตาม แต่ก็ไม่คิดว่าทุกคนจะขอได้)

ร้านค้าที่รับบัตรเครดิต
แม้ร้านค้าจะถูกหักค่าธรรมเนียม 2 - 3% จากยอดที่รูด จริงอยู่ว่ากำไรต่อหน่วยมันจะน้อยลง แต่ร้านค้าส่วนใหญ่ก็ยอมเพราะ ร้านที่รับบัตรเครดิตจะมียอดขายสูงขึ้น แน่นอนว่ากำไรโดยรวมมันจะสูงขึ้น ซึ่งมันก็คือรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง แล้วยิ่งหากมีแคมเป็ญที่ธนาคารลดค่าธรรมเนียมอีก มันก็ยิ่งขายของสนุกไปอีก (หลายคนคงเริ่มคลายข้อสงสัยว่าทำไมจ่ายด้วยเงินสดไม่ได้ส่วนลด)

พวกขายประกัน
กลุ่มนี้ถือได้ว่า ได้ผลพลอยได้คุ้มสุด ๆ ด้วยการหลอกล่อเสนอขายกรมธรรม์ทางโทรศัพท์ บอกว่าประกันของเขาดีแบบนี้ คุ้มแบบนั้น (แต่ไม่บอกข้อยกเว้นหรือเงื่อนไขที่สำคัญให้ครบถ้วน) พอถามหาเอกสารประกอบการขายเพื่อเราจะพิจารณาให้ถี่ถ้วน เขาก็จะบอกว่าเป็นโครงการพิเศษ เป็นเวลาพิเศษ จึงไม่มีเอกสารใด้ เราได้รับสิทธิพิเศษ เทคนิคเก็บเงินที่ใช้ประจำคือ ให้หักเบี้ยประกันแต่ละเดือนผ่านบัตรเครดิตโดยอ้างว่าช่วยอำนวยความสะดวกให้เรา แต่แท้จริงมันเป็นการการันตีว่าเขาจะได้รับการชำระเบี้ยประกัน ดังนั้น รายการหักเบี้ยประกันมันจึงเป็นค่าใช้จ่าย (หนี้) ผ่านบัตรเครดิต ถ้าเราคิดว่าเราจะไม่จ่ายค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพราะไม่อยากจ่ายค่าเบี้ยประกัน มันจะเข้าข่ายชำระหนี้บัตรเครดิตไม่ครบถ้วนนั่นเอง (ไม่ใช่การปฏิเสธการจ่ายเบี้ยประกันอย่างที่หลายคนเข้าใจ) เพราะเทคนิคนี้เป็นการย้าย“คู่กรณีระหว่างเรากับบริษัทประกัน” เป็น “คู่กรณีระหว่างเรากับผู้ออกบัตรเครดิต” แทนซะแล้ว

คนใช้บัตรเครดิต
ในโลกนี้จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ได้ประโยชน์อย่างเต็ม ๆ จากการใช้บัตรเครดิต คือคนที่มีวินัยทางการเงินและวางแผนการใช้เงินที่ดีเท่านั้น เบื้องต้นที่ได้แน่ๆ คือ พวกคะแนนสะสม ยังไม่รวมหลายคนที่เอาบัตรเครดิตไปใช้หารายได้เสริมอื่นๆ อีก แต่แน่นอนว่าจะใครหลายคนจะมีบัตรไว้โชว์ว่า “ข้ามีความเชื่อถือทางการเงิน” แต่เบื้องหลังคือ กำลังเป็นหนี้ก็เป็นได้ (เพราะไม่มีปัญญาจ่ายคืนให้ครบกับที่รูดไป) และธนาคารก็ไม่เคยถามว่าเมื่อไหร่จะใช้หนี้หมด เพราะบัตรมันออกดอก (เบี้ย) ให้เก็บกินได้ทุกวัน

ผู้ออกบัตรเครดิตชอบการเกิดดอกเบี้ยแบบคุ้มสุด
หลายคนมักชอบคิดเอาเองว่า ถ้าจ่ายมากกว่าขั้นต่ำมากเท่าไหร่ จะยิ่งมีเครดิตดีและมีผลต่อการอนุมัติสินเชื่อบุคคลอื่น ๆ ง่ายขึ้น ที่จริงมันเป็นแค่ส่วนหนึ่ง เพราะแท้จริงธนาคารก็คือธนาคารที่ชอบหาดอกเบี้ยวันยังค่ำ ธนาคารจะวิเคราะห์ลักษณะการก่อหนี้และการชำระหนี้คืนเป็นหลัก เช่น บางธนาคารชอบให้เราจ่ายขั้นต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นได้เพราะมันหมายถึงบัตรเครดิตของเขาที่เราถือครองไว้จะสร้างดอกเบี้ยให้ธนาคารนานตราบใดที่ยังมีหนี้ค้างชำระ ในหลักแบบเดียวกันนี้ การสมัครขอสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนน้อยแต่นานนั้น บางธนาคารอาจจะมองว่าค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนเราน้อย (แม้จะนาน) ทำให้บางทีก็อนุมัติง่ายกว่าขอผ่อนเดือนละมาก ๆ ด้วยซ้ำ 


ดังนั้น ใครที่ชอบไปบ่นใน pantip หรือเว็บบอร์ดไหนก็ตามว่า จ่ายตรง จ่ายครบ แต่ทำไมสมัครบัตรเครดิตไม่ผ่าน ก็ขอให้เลิกบ่นได้เลย เพราะมันเป็นเรื่องหลักการประเมินที่อาจจะสวนทางกัน เราประเมินว่าคุ้มสุดสำหรับเรา แต่เขาอาจจะประเมินว่าเราหนี้ไม่เสีย แต่ภาระเยอะก็เลยกลัวว่าเราจะเอาบัตรเครดิตของเขามาเก็บไว้เฉย ๆ โดยเขาก็ไม่ได้อะไรจากการออกบัตรนั้นเลยไงล่ะครับ