Sponsor Link

วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ผ่อน 0% จริงหรือหลอก

เรามักจะพบโปรแกรมลักษณะผ่อน 0% แบบนี้อยู่บ่อย เช่น ช่วงเทศกาลสำคัญ ปีใหม่ ลดครึ่งปี และอื่นๆสารพัดที่เกิดอยากให้มี จึงเริ่มเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า มันผ่อน 0% จริงหรือ ในความเห็นผมแล้ว คิดว่าคงจะ 0% จริงในยุคแรกๆที่เริ่มทำโปรโมชั่นแบบนี้ โดยยอมรับกำไรน้อยลง (ไม่ยอมขาดทุนแน่ๆ ) ทั้งนี้ก็เพื่อหวังผลทางการตลาด แต่หลัง ๆ มานี้ ผมไม่คิดว่าจะจริง ในขณะที่หลายคนก็อาจจะคิดว่าเป็นโปรโมชั่นพิเศษจริง ๆ


สิ่งที่ผมลองสังเกตเห็นก่อนซื้อคือ

·         การผ่อน จะผ่อนกับสถาบันการเงินทั้งนั้น (แน่นอนว่าสถาบันการเงินเขาต้องได้ดอกเบี้ยเป็นผลกำไรทั้งนั้น) ผมยังไม่เคยเห็นผ่อนกับร้านค้าโดยตรงเลย ล่าสุดที่ผมเห็นว่าเป็นการผ่อนกับเจ้าของสินค้าโดยตรงคือ ตอนซื้อเพจเจอร์ (pager: วิทยุติดตามตัวสำหรับรับข้อความ เด็กรุนใหม่ๆคงไม่รู้จัก) ตอนประมาณปี 2538 - 40


·         เวลาจะซื้อสินค้า โดยเฉพาะตามร้านค้า คนขายมักจะแอบกระซิบว่า ถ้าจ่ายสด จะยอมลดให้ หรือไม่ก็ประกาศตรง ๆ ว่า ถ้าจ่ายสดจะลดกี่เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ก็มีของกำนัลให้ สิ่งนี้สามารถตีความได้เลยว่า การไม่ผ่อน 0% ทำให้ร้านค้าไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายให้สถาบันทางการเงินที่ร่วมโปรมชั่นกับเขา ร้านค้าจึงสามารถให้ลดหรือมีของแถมให้


·         บางโปรโมชั่น แหวกแนวอีกว่า ถ้าผ่อน 0% แล้ว มีเงินคืนหรือของกำนัลจากสถาบันทางการเงิน มันยิ่งสวนทางกันไปใหญ่ว่า นอกจากจะไม่มีดอกเบี้ยแล้ว ยังได้ของแถมอีก ลองจินตนาการว่าคนเป็นเจ้าของร้าน คุณจะจัดแคมเป็บแบบนี้มั้ยว่า ถ้าใครซื้อแบบผ่อน ฉันมีของแถมให้ ร้านค้ามีแต่อยากได้เงินสดให้ครบถ้วนไว ๆ ทั้งนั้น


ถ้าประเมินเบื้องต้นดูแล้ว มันมีการจ่ายดอกเบี้ยมันแฝงอยู่ในตัวสินค้าแน่ ๆ ขึ้นอยู่กับว่า ใครเป็นผู้รับภาระส่วนนี้

เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีนี้ ผมขอเล่าประสบการณ์ส่วนตัวให้ฟัง

ตอนที่ผมจะต้องเปลี่ยนยางรถยนต์เพราะหมดอายุแล้ว ก็เลยไปร้านที่เป็นศูนย์มาตรฐานของยางรถยนต์ยี่ห้อสะพานหิน (นามสมมติ) มีโปรโมชั่นผ่อนยาง 0% นาน 6 เดือน  ข้างละ 3,200 บาท สามารถเทิร์นยางเก่าได้ เหลือ 3,000 บาท ราคารวม 4 ล้อก็ 12,000 บาท ผ่อนเดือนละ 2,000 บาท

จากนั้น ผมลองถามร้านอื่นที่มียางแบบเดียวกัน และรับบัตรเครดิตด้วย โดยคิดว่าถ้ารูดแล้วเอาไปเข้าโปรแกรมแบ่งจ่ายจะจ่ายต่องวดเท่าไหร่ ปรากฎว่าได้ราคารวม 10,000 บาท (ข้างละ 2,500 บาท) ถ้าเอาไปเข้าโปรแกรมแบ่งจ่ายแล้ว ผ่อนแค่เดือนละ 1,765.50 เท่านั้น



แนวประเมินเบื้องต้นว่าใครรับผิดชอบดอกเบี้ย

การจะดู ให้ดูตัวสินค้าที่จะกระตุ้นยอดขาย ดังนี้ครับ


1. ถ้าเป็นสินค้าที่ออกมาระยะหนึ่ง แล้วราคาเดิม แนวโน้มร้านค้ายอมจ่ายดอกเบี้ยเองเพื่อเพิ่มยอดขายหรือโละของที่กำลังจะตกรุ่น
2. ถ้าของออกใหม่ คนอยากได้อยู่แล้ว ผูกขาดการจัดจำหน่าย เช่น โทรศัพท์คุณฝน ต่างคนต่างเฝ้ารอตัวรุ่นใหม่ พอเปิดตัวก็ออกแคมเป็ญผ่อน 0% เลย ผมว่าเรามีแนวโน้มเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยครับ

3. ถ้าเป็นหรือพวกสินค้าที่ไม่สามารถเร่งการใช้ได้แต่ต้องรอการใช้ตามความเป็นจริง (เช่น ยางรถยนต์) การออกแคมเป็ญแบบนี้ไม่ได้กระตุ้นยอดขายในภาพรวมอยู่แล้ว นอกจากทำเพื่อแย่งลูกค้ากัน อันนี้ก็ต้องเช็คราคากันดี ๆ ครับ


ทำไมร้านค้าจัดโมโมชั่นผ่อนผ่านสถาบันการเงิน ผ่อนเองกับร้านไม่ได้เหรอ
ตอบง่าย ๆ เลยคือ มันจึงความลงตัวกันระหว่างลูกค้า ร้านค้า และสถาบันทางการเงิน (win - win - win)
1. ลูกค้าอยากจ่ายทีละน้อย
2. ร้านค้าเองก็ต้องการผลักภาระการจัดการหนี้สินออกไปที่สถาบันทางการเงิน ไม่อยากมีภาวะหนี้สูญ
3. สถาบันทางการเงินก็ต้องการดอกเบี้ยและการติดตามหนี้สินมันก็เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจให้กู้เงินอยู่แล้ว แม้ภายหลังลูกค้าไม่อยากผ่อน ก็ไม่สามารถยอมให้ยึดสินค้าแล้วหยุดผ่อนได้ เพราะการผ่อนมันอยู่ในรูปของการกู้แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ลูกค้าจะอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้สถาบันการเงินโดยตรง จึงอยู่ในภาวะรับภาระดอกเบี้ยและเงินต้นทั้งหมดโดยปริยาย


จาก 3 win ข้างต้น มันจึงเป็นกลไกที่สามารถย้ายลูกค้าของร้านค้าไปเป็นลูกหนี้ของสถาบันทางการเงิน เป็นเป็นการกระตุ้นยอดขายร้านค้า กระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต/บัตรผ่อนสินค้า แม้ลูกค้าไม่อยากได้สินค้าภายหลัง หรืออยากจะทิ้งสินค้าแบบยอมให้ยึดของแล้วตัวเองจะไม่ผ่อนต่อก็จะทำไม่ได้แล้ว เนื่องจากไม่ได้เป็นลูกหนี้ร้านค้าแล้ว แต่เป็นลูกหนี้สถาบันทางการเงิน มีข้อมูลเครดิตบูโรเป็นตัวประกัน

เท่านี้ก็คงพอเห็นภาพว่า ผ่อน 0% นั้นจริงหรือหลอก โปรแกรมทางการตลาดก็แอบตอดเงินเราไม่แพ้กลโกงบัตรเครดิตเลยครับ นี่ยังไม่รวมการเชื้อเชิญให้เป็นหนี้แบบที่ทำให้เข้าใจว่ากู้แล้วคุ้มเลย สำหรับผู้ที่ต้องการลองคำนวณในลักษณะแบบนี้เล่น ๆ ให้ดาวน์โหลดไฟล์ Excel แล้วปลี่ยนตัวเลขเอาเองนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น