Sponsor Link

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

จ่ายบัตรขั้นต่ำให้ดอกน้อยลง (อีกนิด) ตอน 3/3: ทำกันอย่างไร

หลังจากที่ท่านเข้าใจเรื่อง วันสรุปยอดบัญชีกับวันครบกำหนดชำระจากจ่ายบัตรขั้นต่ำให้ดอกน้อยลง (อีกนิด) ตอน 1/3: วันปลอดดอกเบี้ยที่ไม่ปลอดดอกเบี้ยจริง และ เข้าใจวิธีคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิตเมื่อชำระขั้นต่ำใน จ่ายบัตรขั้นต่ำให้ดอกน้อยลง (อีกนิด) ตอน 2/3 : ถ้าจ่ายขั้นต่ำล่ะ เขาคำนวณดอกเบี้ยอย่างไร แล้ว ก็มาถึงการจ่ายบัตรขั้นต่ำให้ดอกเบี้ยลดลง (อีกนิด) ซะที (ถ้าท่านชำระเต็มอยู่แล้ว และไม่กดเงินสดเลย ท่านไม่จำเป็นต้องอ่านครับ)

ตัวอย่างการเพิ่มจำนวนวันสำหรับคำนวณดอกเบี้ย
ก่อนจะพูดถึงขั้นตอนภาคปฏิบัติ มาดูตัวอย่างที่ผมโดนมาแล้ว ธนาคารนี้ผมทำหักค่าใช้จ่ายบัญชี 100% ดังนั้น ไม่มีขั้นต่ำ  ปกติจะครบกำหนดชำระทุกวันที่ 8 - 9 ของแต่ละเดือน (ผมมีปัญหาการเงินเพราะผลจากน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 54 นึกว่าเอาอยู่) มาดูว่า ขั้นตอนการเพิ่มวันคำนวณดอกเบี้ยของธนาคารเป็นอย่างไร

ภาพที่ 1 ผมจ่ายเต็มมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มันไม่มีความหมายอะไรสำหรับธนาคาร เพราะเขาไม่ได้ดอกเบี้ย (แน่นอนเราเป็นลูกค้าชั้นดี) ผมเอาเงินเข้าบัญชีไม่ทัน ก็ยังจ่ายบริการเคาน์เตอร์นอกรอบ เต็มจำนวนตามยอด แต่ก็ช้ากว่ากำหนด (จากวันที่ 8 เป็นวันที่ 15 ดูตามกรอบแดง ล่างทั้งซ้าย - ขวาประกอบ)




ภาพที่ 2 เดือนต่อมา แม้เดือนที่แล้ว ผมจ่ายไปกว่า 72%  (ตามกรอบแดงล่างขวา) จากยอด 36,xxx (ดูภาพยอดหนี้ในภาพที่ 1 ประกอบ) แต่ธนาคารถือว่าผมต้องจ่ายเต็ม ถือว่ามียอดค้างชำระ เข้าข่ายจะติดบูโร และเตรียมระงับบัตร (Call center ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะถูกโปรแกรมสมองให้ตอบตาม script ที่มีไว้แบบนั้น) และพอธนาคารเห็นว่าไม่ครบ ก็ย้ายวันครบกำหนดชำระไปปลายเดือน แน่นอนว่ามันยืดวันคำนวณดอกเบี้ยตามที่ผมอธิบายไว้ ผมถามธนาคาร เจ้าหน้าที่ก็อ้างว่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า (ที่จริงคือ หลอกให้ลูกค้าตายใจ คิดว่าได้กำไร 




ภาพที่ 3 เดือนต่อมา ผมประเมินแล้วว่า แม้ผมทุ่มสุดตัวก็ยังจ่ายเต็ม 100% ไม่ได้ และบัตรถูกระงับอยู่ดี ผมเลือกไม่จ่ายของเดือนที่ผ่านมา (ภาพล่างไม่มีรายการชำระเลย) ผมเก็บเงินไปจ่ายบัตรอื่นดีกว่า (อย่างไรก็ตามผมก็ปิดหนี้ได้ในเดือนต่อมา และยกเลิกทันที โดยภาพรวมก็ยังถือว่าได้กำไรจากบัตรนี้) 





หอมปากหอมคอแล้ว มาดูภาคปฏิบัติสำหรับจ่ายขั้นต่ำแบบลดดอกเลยครับ

ขั้นตอนแรกคือ เตรียมการ
  • ต้องทราบวันสรุปยอดของแต่ละบัตรเครดิตที่มี
  • ควรมีฟอร์มรับชำระที่มีบาร์โค้ดเก็บไว้ใช้ (ทุกงวด บาร์โค้ดจะเหมือนกันทุกประการ เว้นแต่ท่านขอหมายเลขบัตรใหม่เพราะบัตรใบเดิมหาย) ฟอร์มทุกอันมีประโยชน์ สามารถฝาก messenger ของบริษัทที่เราทำงานอยู่ไปชำระเงินได้ (ถ้าเขาจะไปอยู่ธนาคารนั้นๆ อยู่แล้ว และในฟอร์มมันก็มักไม่ระบุยอดหนี้ค้างชำระใด ๆ)
  • หาแหล่งรับชำระใกล้ตัว  เช่นตู้ ATM ตู้รับฝากเงิน (บางตู้รับชำระได้ด้วย) หรือบริการเคาน์เตอร์ตามร้านสะดวกซื้อ
  • แม้ไม่มีบาร์โค้ด ก็ชำระที่เคาน์เตอร์ธนาคารหรือตู้ ATM ของธนาคารที่ออกบัตรเครดิตได้ (แน่นอนว่า ส่วนใหญ่ไม่มีค่าธรรมเนียมการรับชำระ)

ขั้นตอนสุดท้ายคือชำระกับรูดให้ถูกวัน
  • ชำระวันรุ่งขึ้นทันที หลังวันสรุปยอด เพราะหลังสรุปยอด เป็นวันที่มียอดค้างชำระขึ้นในระบบคอมพิวเตอร์แล้ว ส่วนใบแจ้งหนี้จะมาถึงหรือยัง ไม่ต้องไปสนใจ โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน  เพราะการรอจนถึงวันครบกำหนดคือการยอมให้ดอกเบี้ยงอกจากเงินค้างจ่าย (เว้นแต่เป็นพ่อค้า แล้วต้องเอาเงินไปหมุนก่อนแล้วได้เงินคืนตอนวันครบกำหนดชำระ)
  • ถ้าวันสรุปยอดตรงกับวันหยุด อาจจะรอสัก 2 – 3 วัน หรือโทรถาม call center เลยครับว่า มีการสรุปยอดบัญชีหรือยัง
  • ให้หยุดใช้บัตรโดยเด็ดขาด หรือถ้าต้องใช้ ให้เลื่อนการรูดออกไปให้ไกลเท่าที่จะทำได้
  • เมื่อตั้งใจว่า จะหยุดการใช้บัตรเครดิตแน่ ๆ แต่ไม่สามารถชำระขั้นต่ำ 10% ได้ หรือชำระแล้วก็ยังต้องเอาไปรูดอีกเพราะค่าใช้จ่ายส่วนตัวไม่พอ ให้หาโปรโมชั่นและใช้เทคนิคการปิดหนี้บัตรเครดิตด้วยสินเชื่อบุคคล หลังปิดได้แล้ว ให้ยกเลิกบัตรเครดิตเจ้ากรรมนี้เสีย (ตั้งหลักได้เมื่อไหร่ ค่อยสมัครใหม่)
ง่ายเพียงเท่านี้ ก็จะทหให้ท่านจ่ายบัตรขั้นต่ำให้ดอกเบี้ยน้อยลงได้  บางคนอาจจะเอาไปวางแผนแต่ง bank statement ให้ดูดีได้ด้วย เพราะถ้าจะไปทำเรื่องเงินกู้ (ที่จำเป็น) แล้ว ถ้าในบัญชีเงินฝากเราหายหมดเกลี้ยงตั้งแต่วันแรก ๆ ของเดือน มันคงดูไม่ดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น