Sponsor Link

วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ป้องกันกลโกงที่มากับบัตรเครดิต

ว่ากันว่า การป้องกันปัญหาก่อนเกิดนั้น ย่อมดีกว่ามาคอยตามแก้ไขปัญหาภายหลัง การใช้บัตรเครดิตก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อมันมีประโยชน์ แต่ก็มีโทษมาด้วยกันเหมือนดาบ 2 คม เราก็คงต้องใช้มันอย่างรู้ทันโจร (ขโมยข้อมูลบัตร) ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการรู้ว่าจะสมัครบัตรใบไหนดี

ป้องกันตั้งแต่การเตรียมเอกสารตอนสมัครบัตรเครดิต
  • ให้เตรียมเอกสารพอดีที่จะสมัคร โดยเฉพาะการสมัครผ่านตัวแทน ยุคนี้เป็นยุคสินเชื่อวิ่งเข้าหาลูกค้า ถ้าเอกสารเตรียมไว้ใช้งานไม่ได้ เขาจะมาขออันใหม่เอง (อย่าลืมว่าเขามีรายได้จากคอมมิสชั่นการสมัครบัตรเครดิตที่ได้รับการอนุมัติแล้วเท่านั้น)
  • อย่าทำสำเนาเอกสารเปล่า ๆ เพื่อให้ตัวแทนเอาไปสมัครบัตรอื่นตามใจเขา (แม้เขาอ้างว่า อยากบริการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า แท้จริงอยากได้คอมมิสชั่นเพิ่ม)  มันเกือบไม่ต่างจากถูกคนอื่นขโมยเอกสารไปสมัครบัตรเครดิตแทนเรา เปิดโอกาสให้เกิดการแอบเอาเอกสารของเราไปทำธุรกรรมทางการเงินในทางทุจริตได้ เอกสารไหนที่เตรียมเกินไว้ ให้เก็บไว้กับตัว และถ้าทำลายทิ้งเสีย (อย่าเสียดายเลยครับ ดีกว่ามาตามแก้ไขปัญหาภายหลัง)
  • คาดข้อความในสำเนาให้ชัดเจน ทั้งลักษณะการคาดและข้อความ ตัวอย่างเช่น “สำหรับสมัครบัตรเครดิตธนาคาร....เท่านั้น” อย่าเขียนลอย ๆ กว้าง
  • การเซ็นต์รับรองสำเนาถูกต้อง นอกจากต้องมีลายเซ็นต์แบบเดียวกันแล้ว ให้ระบุวันที่เซ็นต์ด้วย เพื่อกำหนดอายุการใช้งานเอกสาร 

ป้องกันระหว่างใช้งานบัตรเครดิต
  • หลังจากที่อนุมัติการสมัครแล้ว ขณะรับบัตร (ไม่ว่าจะรับเองที่สาขาธนาคารหรือให้ธนาคารส่งให้ทางไปรษณีย์) ซองเอกสารจะต้องอยู่ในสภาพเรียบร้อย ปิดผนึกแน่นหนา
  • ระวังมีคนขอให้เอาบัตรไปลองใช้กับเครื่อง (จะตู้ ATM อะไรก็ตามที่รูดได้สอดได้) โดยไม่มีเหตุอันควร อาจจะเป็นแผนลวงให้ถูกดูดข้อมูลโดยเครื่องสกิมเมอร์ (credit card skimmer) ได้ ลองหาคำว่า เครื่องสกิมเมอร์  จะมีข้อมูล ภาพ และสารพัดเทคนิคขโมยข้อมูล
  • การแสดงน้ำใจก็ต้องมีสติให้ดี ผมเคยได้ยินมาว่า มีฝรั่งมายืนแถวตู้ ATM แกล้งมาถามคนที่มากดเงินที่ตู้ว่า ต้องการใช้เงินแต่บัตรเครดิตของเขาเสียบเข้าตู้ ATM ไม่ได้ อยากรู้ว่าบัตรเขาใหญ่เกินไปหรือป่าว จะขอยืมบัตรเครดิตคนนั้นลองเสียบดู แท้จริงแล้ว มันแอบติดเครื่องสกิมเมอร์ไว้ที่ช่องเสียบบัตรแบบแนบเนียนไว้แล้ว (บัตรเครดิตมันมีขนาดมาตราฐานเดียวกันทั่วโลก เทคโนโลยีบ้านเราก็นำเข้าจากต่างประเทศ มันเข้ากันได้แน่ๆ)
  • จำ secure code หรือ verified code  ที่หลังบัตรไว้ จากนั้นปิดทับด้วยสติ๊กเกอร์แบบที่เขาเอาไว้ติดกับอุปกรณ์ที่เขาป้องกันการดัดแปลงแก้ไขโดยไม่ได้รับอนุญาต (สติกเกอร์ที่มีคำว่า warrantee void if removed นั่นแหละครับ) หรือสติกเกอร์ที่ขาดติดกับบัตรได้ง่ายเมื่อมีการพยามแกะ (หาซื้อได้ไม่ยากนัก) ถ้าเอาไปใช้จ่ายที่ร้านอาหารหรือร้านที่มีบริกรเอาบัตรไปรูดในที่ลับตาเราแล้วค่อยเอามาให้เราเซ็นต์ แล้วตอนบัตรคืนมามันมีรอยแกะ เตรียมโวยได้เลยว่าแอบดูดข้อมูลหรือป่าว
  • อย่างไรก็ดี ระวังถูกหลอกถามข้อมูลบัตร ข้อมูลส่วนตัว เช่น แกล้งอำว่าโทรจากธนาคารเจ้าของ ตรวจสอบได้ว่ามีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่มีมูลค่าสูง เลยโทรมาถามเพื่อขอการยืนยัน โดยถามข้อมูลต่าง ๆ อันนี้ขอบอกเลยว่า ถ้ามาจากธนาคารจริง เราตอบแค่ใช้จ่ายหรือไม่ได้ใช้เท่านั้น จากนั้นธนาคารจะดำเนินการต่างๆเอง เพราะข้อมูลอื่นๆเขามีของเขาอยู่แล้ว ถ้าถามเกินจากนี้หรือพูดอ้อมไปอ้อมมา วางสายไปเลยครับแล้วลองโทรกลับที่ call center ของธนาคารโดยตรงแทนจะดีกว่า
  • หาสติ๊กเกอร์บาง ๆ ที่สามารถแปะได้แน่น ๆ ไม่หลุดง่าย นำมาแปะส่วนที่ว่างให้เห็นเป็นสัญลักษณ์ว่า มันเป็นบัตรของเรา ป้องกันส่งผิดคนเวลาไปกินข้าวนอกบ้าน ถ้าทำขนาดนี้แล้วเขายังส่งบัตรผิดอันมาให้เรา เตรียมโวยได้เลยว่ากำลังถ่วงเวลาเราเพราะแอบเอาบัตรเราไปดูดข้อมูลหรือป่าว (ถ้าสติ๊กเกอร์หลุดง่าย เดี๋ยวมันจะติดในเครื่องรูดบัตร ถูกเรียกค่าเสียหาย ซวยโดยใช่เหตุ)
  • การรูดบัตร ร้านเล็กๆโดยทั่วไปหรือปั๊มน้ำมัน จะรูดทีเดียวที่เครื่องรูดบัตรของธนาคารเท่านั้น ถ้าห้างใหญ่หน่อย มักจะ 2 ครั้งคือ รูดที่เครื่อง cashier เพื่อเก็บข้อมูลว่าชำระด้วยบัตรอะไร กับรูดที่เครื่องรูดบัตรเพื่อส่งข้อมูลขออนุมัติวงเงินกับธนาคาร ถ้าเกินจากนี้ สงสัยไว้ก่อนเลยว่า ถูกดูดข้อมูล แม้เขาจะอ้างว่าเก็บข้อมูลหลายระบบก็ไม่ต้องเชื่อ เพราะโดยทั่วไปข้อมูลทางคอมพิวเตอร์สามารถทำสำเนาได้ง่าย ๆ ไม่ต้องรูดหลายทีก็ได้
  • อย่าตั้งรหัสต่าง ๆ ตามวันเดือนปีเกิด ง่ายต่อการเดาโดยเฉพาะตอนกระเป๋าหาย เรามักได้ยินเสมอว่า คนขโมยกระเป๋าเขาเดารหัสบัตร ATM จากวันกิดที่อยู่ในบัตรประชาชน ถ้าจะตั้งรหัสก็ให้หาวันสำคัญอื่น ๆ ในชีวิตแทน เช่น วันครบรอบแต่งงาน วันเกิดลูก วันเกิดแฟน
  • ซื้อของผ่านอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ต้องมี https นำหน้า ซึ่งเป็นการเข้ารหัสข้อมูลขณะส่งไปตามเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แม้จะมีคนดักข้อมูลได้ ก็อ่านไม่รู้เรื่อง
ป้องกันหลังการยกเลิกใช้บัตรเครดิต
  • หลังแจ้งยกเลิกบัตรเครดิตที่สาขาธนาคารแล้ว ควรแจ้งระงับบัตรกับ call center ด้วย บางธนาคารบริหารบัตรเครดิตแยกออกมาต่างหาก (สาขาธนาคารเป็นแค่ที่รับเรื่องหรือประสานงาน)
  • อย่าลืมว่า แม้มี sms ยืนยันการรับทราบ แต่ sms ไม่ถือว่าเป็นหลักฐานอ้างอิงทางธุรกรรมทางการเงิน (เป็นแค่ส่วนหนึ่งของขั้นตอนการทำงานที่ช่วยให้ทราบสถานะการดำเนินการ)
  • อย่างน้อยต้องมีใบแจ้งหนี้งวดสุดท้ายที่ระบุว่า หนี้เหลือ 0 บาท และเราควรเก็บไว้เป็นหลักฐาน (อย่างน้อย 10 ปี)

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นข้อควรระวังเบื้องต้นทั่วไปที่เราควรทำความเข้าใจไว้ เพื่อเราจะรอดพ้นหรือเจอป้องกันกลโกงที่มากับบัตรเครดิตให้น้อยที่สุดครับ และอีกประการที่เรามักมองข้ามคือ โปรโมชั่นใช้บัตรต่าง ๆ เช่น ผ่อน 0% จอมปลอม ก็ดูดเงินเราไม่น้อยเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น