Sponsor Link

วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

หนี้บัตรเครดิตไม่บาน

ผมมักจะพบคำค้น “บัตรเครดิต pantip” ในกูเกิล เมื่อตามไปอ่านก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งอยากรู้วิธีสมัครบัตรเครดิตอย่างไรให้ผ่าน ในทางกลับกันก็จะมีกคนอีกกลุ่มที่เผลอเป็นหนี้บัตรเครดิตจนผ่อนชำระไหวจนเสียสุขภาพจิต ในที่นี้จะขอนำเสนอมุมมองที่เหมาะสมในการจัดการกับหนี้บัตรเครดิต การจั่วหัวข้อบทความมาแบบนี้จึงไม่ได้แปลว่าบัตรเครดิตเป็นผู้ร้ายอะไร

การจัดการหนี้บัตรเครดิตให้อยู่
1. กู้หนี้ใหม่มาปิดหนี้บัตรเครดิตแบบถูกวิธี
โดยทั่วไปมีคำแนะนำว่าให้หยุดสร้างหนี้เพิ่มพร้อมกับการหยุดใช้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดทุกใบ แล้วค่อยๆ ปิดยอดไปทีละใบโดยปิดหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน แล้วไล่ตามลำดับลงไป ดังนั้น ถ้าจ่ายขั้นต่ำไหวก็จ่ายไปก่อน

วิธีลดความวุ่นวายอีกวิธีคือ การกู้หนี้ใหม่มาปิดบัตรหนี้บัตรเครดิตใบเดิม วิธีนี้จะใช้ได้ดีเมื่อตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า ได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าหรือแม้อัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม ก็จะต้องได้ระยะการผ่อนที่ยาวขึ้น และที่สำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ต้องทำให้สามารถยุติการจ่ายหนี้เดิมได้และหยุดสร้างหนี้ใหม่ได้ จะด้วยยกเลิกการใช้บัตรเครดิตหรือกลเม็ดใด ๆ ที่ทำให้หยุดใช้บัตรได้ ซึ่งผมเคยยกตัวอย่างไว้ใน “ประสบการณ์ปิดหนี้บัตรเครดิตด้วยสินเชื่อส่วนบุคคล

2. ทำบัญชีรายรับรายจ่าย
สมัยนี้แม้ในในสมาร์ทโฟนก็ยังมีโปรแกรมตารางคำนวณให้ใช้งาน (โปรแกรมแบบ Excel) อย่าเอาแต่ใช้เล่นไลน์ (Line) กับ Facebook เอาอุปกรณ์ที่แสนแพงนี้มาใช้ให้คุ้มค่าครับ ลองบันทึกรายรับ (เงินเดือนหลังหักประกันสังคม ภาษี ณ ที่จ่ายและเงินจ่ายเข้ากองทุนเลี้ยงชีพแล้ว) เปรียบเทียบกับรายจ่ายทั้งเดือนดู มันจะทำให้เราเห็นชัดเลยว่าเราควรควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างไร เงินพอใช้มั้ย จะได้ลดการสร้างหนี้โดยไม่จำเป็นและควบคุมการใช้จ่ายในแต่ละวันของเราได้ดี

3. ประเมินความจำเป็นของการบริโภค
ทุกวันนี้เราจะเห็นแทบทุกคนก้มหน้าก้มตาเล่นสื่อสังคมออนไลน์ (social media) บนโทรศัพท์มือถือตลอดเวลาขณะเดินทาง เช่น ขณะรอรถเมล์ ตอนอยู่ในรถไฟฟ้า หลัก ๆ เห็นจะเป็น Line กับ Facebook   (แต่ไม่ยักกะคุยกับคนนั่งข้าง ๆ) ผมไม่ได้ต่อต้านสิ่งเหล่านี้แต่คิดว่ามันมากเกินไปและมันก็มีค่าใช้จ่ายสำหรับสิ่งเหล่านี้ด้วย

มันมีค่าใช้จ่ายหลายอย่างที่ไม่จำเป็นและเราจ่ายตามความเคยชิน (ภาษาฝรั่งเรียกว่า late factor เปรียบได้กับการที่ต้องกินกาแฟลาเต้ทุกเช้าก่อนเข้าทำงานของคนในประเทศทางตะวันตก) เช่น หลังกินข้าวเช้าต้องมีกาแฟสด ระหว่างมื้อกลางวันต้องกินน้ำอัดลม หลังข้าวเย็นต้องมีขนมหวาน หรือหลังเลิกงานต้องเดินไปเที่ยวในห้างแล้วก็อดใจช้อปปิ้งไม่ได้ ถ้าเราลดสิ่งเหล่านี้ได้ก็ลดค่าใช้จ่ายได้ลงมากแหละครับ

4. ระวังการฉีกแบ็งค์ 20 ทิ้งทุกวัน
ไอเดียนี้มาจากการฟังสัมมนาเกี่ยวกับการจัดการเงิน โดยวิทยากรให้ผู้รับการอบรมหยิบแบ็งค์ 20 ออกมาชู จากนั้นก็บอกให้ทุกคนฉีก ปรากฎว่าไม่มียอมฉีกซักคน แต่วิทยากรบอกว่าแท้จริงหลายคนฉีกทิ้งทุกวัน
ความหมายก็คือ เราจ่ายเงินซื้อของแต่เราใช้ประโยชน์ได้ไม่หมด เช่น ซื้อผลไม้มากินระหว่างทำงานแต่เรากินไม่หมดแล้วเราก็ต้องโยนทิ้งไป กินข้าวตามร้านอาหารตามสั่งแต่ก็กินไม่หมดมันก็ถูกทิ้งไป ท่านก็ลองคิดดูว่า ท่านทิ้งอะไรโดยเปล่าประโยชน์บ้างในแต่ละวัน

พฤติกรรมการฉีกแบ็งค์ 20 ทิ้งทุกวันอีกอย่างที่เรามักคิดไม่ถึงก็คือโปรโมชั่นทางการตลาดที่ทำให้เราซื้อของมากเกินกว่าที่เราใช้จริง เช่น บริการอินเทอร์เน็ตที่มักมีโปรโมชั่นว่า จ่ายเพิ่มอีกนิดแต่ได้ความเร็วเพิ่มเท่าตัว แต่ในความเป็นจริงเราอาจจะไม่ต้องการความเร็วมากขนาดนั้น เราเองก็มักทำงานอยู่นอกบ้านมากกว่า เราจึงมีเวลาใช้งานไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเงินที่จ่ายไป

5. หาทางเพิ่มรายได้ด้วยตนเองอย่างคนมีกึ๋น
ในสังคมคนทำงานยุคใหม่สไตล์มนุษย์เงินเดือน เคยชินกับการมีเงินมาเข้าบัญชีเงินฝากทุกเดือน มนุษย์เงินเดือนจึงมักใช้เวลาว่างไปกับการพักผ่อนหรือไม่ก็ใช้เวลาว่าเพื่อความบันเทิงเริงใจมากกว่าจะมากังวลว่าจะมีเงินใช้หรือไม่ ดังนั้น พอมีหนี้บัตรเครดิต จึงมักแก้ปัญหาด้วยการกู้เงินจากแหล่งใหม่มาชำระหนี้เดิม ในขณะเดียวกันนั้น เงินเดือนก็มักไม่ได้เพิ่มขึ้นมา ถ้าหากทำผิดวิธีมันก็จะเป็นการเพิ่มหนี้ ทำให้เกิดปัญหามีหนี้สะสมเพิ่มขึ้นตามมา

ดังนั้น หากต้องการมีรายได้เพิ่ม ก็คงไม่ใช่ไปขอเงินเดือนเพิ่ม แต่ต้องทำงานมากขึ้น เช่น ทำโอที (งานล่วงเวลา) หรือหาอาชีพเสริมที่ไม่มีข้อผูกพันต่อเนื่อง เช่น เป็นวิทยากรสอนคอมพิวเตอร์ จ้างสอนหนังสือให้กับเด็ก เขียนบทความตามเนื้อหาที่เราถนันลงบล็อกแล้วหาแบนเนอร์โฆษณามาแปะ เราก็จะมีเงินมาชำระหนี้มากขึ้น ๆ หรืออย่างน้อย ก็มีเงินสำหรัลใช้มากขึ้น

6. อย่ายึดติดกับทรัพย์สินที่ไม่ก่อประโยชน์
ผมได้ไอเดียนี้ตอนเดินตลาดนัด เจอคนเอาหนังสือมาขายเล่มละ 5 -10 บาท จากราคาเดิมหลักร้อย สอบถามจึงได้ความว่าเขาชอบอ่าหนังสือ ที่เอามาขายนี่เขาอ่านหมดแล้วเลยเอามาขายทิ้ง ผมว่าแต่ละคนก็น่าจะมีของสะสมต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้แล้ว เช่น เสื้อผ้า รองเท้า หนังสือเก่า ๆ ที่อ่านแล้ว ผมว่าถ้าเอาของเหล่านี้มาขายได้เงินแล้ว นอกจากได้ตังค์แล้วยังลดภาระการเก็บรักษาดูแลอีกด้วย

บัตรเครดิตโดยตัวอันเองเป็นกลาง ส่วนจะเป็นคุณเป็นโทษมันจึงขึ้นอยู่กับผู้ใช้ การใช้จ่ายแบบมีวินัยต่างหากเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ถ้าใช้แบบตามใจอยากหรือเคลิ้มกับโปรโมชั่นต่าง ๆ เมื่อไหร่มันจะสร้างปัญหาเมื่อนั้นทันที จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมคนเดี๋ยวนี้เป็นหนี้กันมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น