Sponsor Link

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทำไมเดี๋ยวนี้คนเราเป็นหนี้กันมาก

ผมไปเจอหัวข้อนี้มาจาก pantip ก็เลยขอเอามาขยายผลแสดงความเห็นต่อในบล็อกนี้ ไม่ได้มีเจตนาจะไปหักล้างความคิดใคร เพียงแต่ส่วนตัวผมมีความคิดเห็นต่างจากความเห็นทั่วไป สำหรับผมเองคิดว่าสาเหตุที่เราเป็นหนี้กันมากมีดังนี้

1. ไม่รู้จักคิด

1.1 เงินไม่พอใช้เลยทำบัตรเครดิต/ บัตรกดเงินสด

สิ่งที่ผมมักได้ยินจากปากเพื่อนมนุษย์เงินเดือนด้วยกันก็คือ อยากทำบัตรเครดิตเพราะเงินไม่ค่อยพอใช้ หรือไม่ก็วงเงินบัตรเครดิตเต็ม เลยต้องสมัครบัตรเครดิตเพิ่ม

ผมไม่เข้าใจจริง ๆ ว่าเขาเอาอะไรมาคิด ถ้าเงินไม่พอใช้ เราก็ต้องทำงานมากขึ้นหรือไม่ก็เปลี่ยนงานที่มีโอกาสได้ค่าตอบแทนมากขึ้น การทำบัตรเครดิตมันไม่ได้ทำให้เรามีเงินในแต่ละเดือนมากขึ้นเลย ตรงข้ามมันเป็นการสร้างภาระหนี้ให้ตัวเองอย่างเห็นได้ชัด ถ้าเขาทำงานค้าขาย ต้องมีเงินต้นทุน สามารถเอาเงินที่กู้ไปค้าขายจนได้กำไร แล้วเอารายได้ที่เกิดก็มาใช้หนี้ในเวลาที่เจ้าหนี้กำหนดไว้ ก็ไปอย่าง

1.2 บ้าศักดิ์ศรีจอมปลอม

ที่ขอพูดคือ การวัดคุณค่าหรือศักดิ์ศรีตัวเองด้วยบัตรเครดิตที่ถือ พอสมัครบัตรเครดิตไม่ผ่านก็ขาดความไม่มั่นใจในตัวเองว่าทำไมสมัครบัตรเครดิตไม่ผ่าน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วการอนุมัติบัตรเครดิตมันขึ้นกับแนวทางปฏิบัติของแต่ละธนาคารที่ต่างกันไป แม้ท้ายสุดเราอาจจะพยายามหาวิธีสมัครบัตรเครดิตให้ผ่านได้ แต่ถ้ามีแล้วไม่รูด มันก็เหมือนถูกมองว่ามีบัตรเครดิตไว้เพื่อโชว์ มันก็อยากจะรูดโชว์อีก (ยอมอด ไม่ยอมอาย) มันก็ยิ่งเสียวินัยการเงินไปกันใหญ่ ท้ายสุดก็อาจจะต้องไปกู้เงินเพื่อปิดหนี้บัตร

1.วัตถุนิยมแบบขาดการประมาณตน
ผมไม่ได้ต่อต้านการซื้อรถซื้อบ้านหรืออะไรที่เป็นสิ่งจำเป็น แต่หลายคนมักผ่อนแบบเกินตัว ร้ายไปกว่านั้นคือการผ่อนเพื่อการบริโภคเสียส่วนใหญ่ เช่น รถยนต์ (ที่ราคามันตกเร็วกว่าเงินที่ผ่อนไปเสียอีก)


ผมรู้จักคนหนึ่งที่พยายามกัดฟันผ่อนรถป้ายแดงเดือนละประมาณ 10,000 กว่า ๆ แต่จอดไว้มากกว่าขับ ผมเคยแนะนำให้เขาขายเสีย เขากลับย้อนว่า เข้าใจเขาหน่อยว่ามันเป็นสมบัติชิ้นเดียวที่เขามีอยู่ ผมก็อุตส่าห์หวังดีอธิบายให้ฟังว่า มันไม่ใช่สมบัติแต่มันเป็นตัวสร้างหนี้ เพราะกว่าจะผ่อนหมด เขาต้องจ่ายเงินร่วม 600,000  และรถจะเก่าลงจนราคาจะเหลือไม่เกิน 300,000 ก็เท่ากับว่าเงินมันหายไป 300,000 แล้วจะซื้อมาจอดให้มันเสื่อมค่าเล่นทำไม แต่เขาไม่รับฟัง ท้ายสุดก็หนี้สินล้นพ้นตัวต้องคอยหลบเจ้าหนี้ (ตอนนี้ไม่รู้หายตัวไปไหนแล้ว)

1.4 ยอมอยู่ในเกมการตลาดของสถาบันทางการเงิน

การจัดแคมเป็ญการค้าการขายทุกอย่างในโลกล้วนเป็นไปตามกลไกการตลาดทั้งสิ้น แต่ปัญหามันอยู่ที่เรามักจะยอมติดกับดักหลุมพรางของผู้ให้บริการสินเชื่อ เรามักจะเห็นโฆษณาชวนให้เป็นหนี้เพื่อเห็นแก่ความกตัญญู เป็นหนี้เพราะอยากมีภาพลักษณ์ที่ดี เป็นหนี้เพราะกลัวครอบครัวมีปัญหา ดังนั้น ถ้าเรากำลังอยู่ในภาวะแบบนั้นอยู่ เราก็จะมีข้ออ้างให้กับตนเองและอยากจะเป็นหนี้จนเนื้อเต้น เราก็จะเดินเข้าไปในกับดักนั้น ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงมันมีวิธีการแก้ปัญหาอีกหลายทางที่เราสามารถคิดได้และทำได้ (แต่เราก็เลือกไม่ทำ)

2. นิสัยขาดวินัย จึงเกิดอาการการทำอะไรตามใจคือไทยแท้
นิสัยประจำชาติด้านลบที่เรายังแก้กันไม่ได้ นั่นคือ การทำอะไรตามใจคือไทยแท้ และที่มาของนิสัยนี้ก็คือ การขาดวินัย พวกฝรั่งที่จับจุดนี้ได้ก็มาเปิดบริษัทปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลดูดเงินเข้าประเทศตัวเอง หลัง ๆ มา ธนาคารพานิชย์ต่าง ๆ ของไทยก็เอากับเขาบ้างเพื่อสร้างรายได้เข้าองค์กร

รากความหมายที่แท้จริงของการมีวินัย คือ การรู้จักควบคุมบังคับตนเองให้อยู่ในแนวทางที่ควร หรือในแนวทางของการใช้เหตุผลที่ควรจะเป็นตั้งแต่ระดับจิตใจ ทุกวันนี้ที่เราไม่ตื่นสาย ยังไปทำงานตรงเวลา ทำตามกฎระเบียบข้อบังคับทางจราจรต่าง ๆ ได้ ถือได้ว่ามีวินัยระดับหนึ่ง แต่มันก็ถูกต้องบางส่วนครับ

เพื่อให้เห็นภาพก็คือไปดูมดที่มันมักมาหาอาหารตอนที่เราเก็บกวาดอาหารไม่หมดครับ จะเห็นว่าแต่ละตัวมันทำหน้าที่ของตัวเองโดยไม่ต้องมีอะไรมาคุมเลย ไม่มีตัวไหนทำตัวเก๋าเกมออกนอกแถวเลย ท้ายสุดมันก็อยู่ข้ามแล้งข้ามปีได้

ตามความเป็นจริงแล้ว คนอยู่สูงกว่าสัตว์ ควรจะวินัยทั้ง 3 ด้าน กล่าวคือ

1.                  กายกรรม ควบคุมตนเองให้ทำในสิ่งที่ควรทำ ควบคุมตนเองให้ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ
2.                  วจีกรรม ควบคุมตนเองให้พูดในสิ่งที่ควรพูด ควบคุมตนเองให้ไม่พูดในสิ่งที่ไม่ควรพูด และ
3.                  มโนกรรม ควบคุมตนเองให้คิดในสิ่งที่ควรคิด ควบคุมตนเองให้ไม่คิดในสิ่งที่ไม่ควรคิด


แต่เราก็พบว่ามนุษย์โลกทั่วไปไม่ได้เป็นอรหันต์ด้านวินัย ก็เลยต้องมีกลไกทางสังคมมาช่วย เช่น ตัวบทกฎหมาย การลงโทษต่าง ๆ มาควบคุมเพื่อให้ทุกอย่างในสังคมมันไปในแนวทางที่ควรไปนั่นเอง เช่น หลายคนตื่นเช้าไปทำงานเพราะกลัวถูกหักเงินเดือน ไม่ขับรถฝ่าไฟแดงเพราะกลัวโดนจับ จึงไม่ถือได้ว่ามีวินัยอย่างแท้จริง แต่มันเป็นความกลัวเสียตังค์มันบังคับเราอยู่

แล้วคราวนี้มันมาเกี่ยวกับการเป็นหนี้กันมากก็ตรงที่ว่า เดี๋ยวนี้กู้ง่าย กฎระเบียบผ่อนคลายการเยอะ นิสัยการทำอะไรตามใจคือไทยแท้มันก็เลยแผลงฤทธ์กันง่าย ๆ จึงส่งผลให้เราเป็นนักกู้กันง่าย ๆ ครับ ไม่เชื่อลองคิดดูว่าระหว่างทางของชีวิตมันมีอะไรที่เราชอบเป็นพิเศษ เรามักทำลายกฎเพื่อเห็นแก่สิ่งที่เราชอบ ตัวอย่างเช่น เราเป็นคนชอบ iphone ดังนั้น แม้เรารู้ว่าการเก็บออมเป็นสิ่งดีที่ควรทำ iphone ก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่สุด แต่เมื่อรุ่นใหม่ออกมาแถมยังมีโปรผ่อน 0% มาล่อใจอีก ถ้าเรายังไม่มีวินัยตามที่กล่าวมาทั้ง 3 ข้อข้างต้น เราก็จะตามใจตัวเองยอมไปเป็นหนี้อย่างง่ายดาย (ยอมให้พวกสินเชื่อมาจูงจมูกเสมอทุกครั้งไป) แม้จะรู้ว่า มันก็ไม่ได้จำเป็นอะไรมากนัก

ตัวอย่างชวนคิด
อยากเล่าเรื่องสมัยที่บัตรเอเม็กซ์ (American Express) มีโปรโมชั่นแบบแหวกแนวให้ฟัง ตอนผมเริ่มทำงาน มันมีโปรโมชั่นอยู่ว่า ใครก็ตามที่จบจากสาขาวิชาที่คนนิยมจากมหาวิทยาลัยของรัฐจะสามารถทำบัตรของเขาได้ทันที โดยไม่ต้องแสดงสลิปเงินเดือน ผมก็อยู่ในช่วงนั้น เรียนจบใหม่ เริ่มทำงานไม่กี่เดือน เซลล์เอเม็กซ์ก็ตามตื๊อเหลือเกิน รวมถึงคนรู้จักที่มีญาติตัวเองเป็นเซลล์ที่เอเม็กซ์ก็มาชวน สมัยนั้นการมีบัตรใบนี้ถือว่าเท่มาก พรรคพวกสมัครกันเป็นแถว ยกเว้นผม ทำไมเหรอครับ 
- ผมหาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมผมต้องมีบัตรเครดิต
- สารพัดโปรโมชั่นที่เซลล์มานำเสนอมันเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็เป็นสิ่งที่ผมไม่มีโอกาสจะได้ใช้
- ถ้าผมรูดบัตรใช้จ่าย อย่างเก่งก็เดือนละ 1000 บาท ได้แต้มมา 40 แต้ม มูลค่าก็ไม่เกิน 4 บาท แต่ทำไมต้องมาเสียค่าบริการ counter service เดือนละ 15 บาท ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมรายปีประมาณ 1,000 บาท (ในสมัยนั้น)

ที่พูดว่าก็เพื่อแบ่งปันความคิดเห็น ผมก็ไม่ได้เป็นนักบริหารขั้นเทพมาจากไหน และก็ไม่ได้ต่อต้านการสร้างหนี้ (ที่จำเป็น) แต่อย่างใด แค่อยากสะท้อนความคิดด้านหนึ่งที่อาจจะเป็นคำตอบหนึ่งของคำถามที่ว่า ทำไมเดี๋ยวนี้คนเราเป็นหนี้กันมาก ก็เท่านั้นครับ ผมเองก็ยังสมัครบัตรเครดิตหลายใบ ต่อภายหลังผมก็มีบัตรเอเม็กซ์ด้วย (แต่ท้ายสุดผมก็ยกเลิกบัตรนี้ไปก่อนที่จะถึงรอบเก็บค่าธรรมเนียมรายปี เพราะหาที่ใช้ลำบาก)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น