Sponsor Link

วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เป็นหนี้บัตรเครดิตให้ได้กำไร (ตั้งแต่แบบขำๆจนถึงแบบตั้งใจรวย) ทำได้จริง

หลายคนคงเคยได้ยินมาบ้างว่า สามารถใช้การเป็นหนี้บัตรเครดิตสร้างรายได้หรือช่วยทำให้รวยได้ เช่น หนังสือกลุ่มพ่อรวยสอนลูกของ Robert T. Kiyosaki (โรเบิร์ต ที. คิโยซากิ) หลักการต่าง ๆ ที่กล่าวในนั้นมันก็คงพอเป็นจริงได้สำหรับบริบทสังคมและโครงสร้างทางเศรษฐกิจในแดนดินของเขา และต้องเหมาะสำหรับคนที่มีวินัยทางการเงิน และต้องประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับเมืองไทยบ้านเรา ไม่เช่นนั้นเราก็จะอยู่ในวงเวียนการเป็นหนี้บัตรเครดิต

บ้านเรามักจะมีกฎเหล็กที่คอยกีดกันไม่ให้มนุษย์เงินเดือนได้มีโอกาสรวยขึ้น เช่น อยากจะซื้อทองแท่งเก็งกำไรแต่เขาก็ไม่ขายในวันหยุด พอจะขายคืนก็จะมีค่าธรรมเนียม ค่าเดินทาง ก็ไม่คุ้มอยู่ดี ครั้นอยากเล่นทองออนไลน์ ก็ต้องซื้อขั้นต่ำ 5 บาท แล้วจะเอาเงินมาจากไหน แม้แต่บัตรเครดิตก็ยังมีบางธนาคารขู่ว่า ให้ใช้สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนตัวเท่านั้น ถ้าทราบว่าเอาไปทำกำไรต่อเมื่อไหร่จะระงับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทันที

บ่นมาเยอะ เข้าเรื่องซะที บทความนี้ผมจะขอแบ่งปันประสพการณ์ทั้งด้านที่เป็นกำไรและขาดทุนสำหรับการสร้างรายได้จากการเป็นหนี้บัตรเครดิต (วิธีการมีเยอะในเน็ต แต่ผมขอเล่าจากประสพการณ์ส่วนตัวของผมเอง)

การเตรียมการสำหรับสร้างกำไรจากหนี้บัตรเครดิต
  1. หาวิธีให้การใช้จ่ายวิ่งผ่านบัครเครดิตให้มากที่สุด (ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่มีปกติวิสัยอยู่แล้ว ไม่ใช่หาเรื่องใช้จ่ายนะครับ)
  2.  พิจารณาเลือกบัตรที่มีสิทธิประโยชน์ดังนี้
    1.  มีเงื่อนไขการยกเว้นค่าธรรมเนียมที่ชัดเจน เช่น ใช้จ่ายครบเท่าไหร่หรือใช้กี่ครั้งใน 1 ปีจะได้รับการยกเว้นอัตโนมัติ (ไม่ใช่ต้องไปโทรขอทุกปีแล้วต้องลุ้นเอาจะได้หรือป่าว เสียเวลาชีวิต)
    2. ควรเลือกใช้บัตรที่สะสมแต้มได้ ยิ่งไม่กำหนดวันหมดอายุยิ่งดี ไม่ควรเลือกบัตรที่เป็น cash back ที่เป็นส่วนลดค่าใช้จ่ายสำหรับชำระหนี้ (ยกเว้นจะเปลี่ยนเป็นยอดเงินเข้าบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ เช่น SCB Family)
    3. เลือกบัตรเครดิตที่มีช่องทางชำระสะดวกและฟรี (ไม่ใช่เอะอะก็เคาเตอร์เซอร์วิซ) สำหรับเป็นช่องทางชำระเพิ่มเติม
  3. เปิดบัญชีเงินฝากแยกมาต่างหาสำหรับหักชำระหนี้บัตรเครดิตแบบเต็มจำนวน (ทำหน้าที่เป็นบัญชีตะกร้าเงินพร้อมชำระหนี้คืนบัตรเครดิต โดยที่
    1. ไม่ต้องเปิดบัตรเอทีเอ็มให้เสียค่าธรรมเนียมรายปี เว้นแต่จะมีบริการที่ทำให้บัตรเครดิตทำหน้าที่เป็นบัตรเอทีเอ็มได้ด้วย และไม่เสียค่าบริการรายปีก็ควรใช้ (ส่วนใหญ่ก็มีกันทั้งนั้น ส่วนจะฟรีหรือป่าวก็ต้องถามเอา)
    2.  เลือกธนาคารที่หาตู้ฝากอัตโนมัติได้ง่ายและไม่มีค่าธรรมเนียมหักค่าใช้จ่าย โดยทั่วไปก็ควรเลือกธนาคารเดียวกับเจ้าของบัตรเครดิต
    3. เลือกธนาคารที่มีช่องทางฝากผ่านตู้รับฝากอัตโนมัติ หาง่าย (เช่นขับรถผ่าน ใกล้ที่ทำงาน ฯลฯ)
  4. ถ้าจะใช้บัตรเครดิตเพื่ออำนวยความสะดวกกับหน้าที่การงาน (ถ้ามี) ก็ควรสมัครบัตรเครดิตแยกมาอีก 1 บัตรต่างหาก อย่าเอาไปปนกับบัตรเครดิตที่ใช้จ่ายส่วนตัว
  5. มีแผนการเงินชัดเจน ไม่แพ้กิเลสตัณหาของตนเอง

วิธีการสร้างกำไรแบบขำ ๆ
1. พยายามหาวิธีลืมรหัสกดเงินสด เช่น เอาไปเปลี่ยนเป็นรหัสที่จำยาก ๆ แล้วลืมมัน (เว้นแต่มันทำหน้าที่เป็นบัตรเอทีเอ็มด้วย ก็ชั่งใจดูว่าถ้าเราคุมตัวเองไม่ให้กดเงินมาใช้ไม่ได้ ก็ไม่ต้องขอใช้บริการเอทีเอ็ม)

2.  หลังการรูดบัตร ต้องเอาเงินใส่บัญชีตระกร้าเงิน จะเอาซองใบแจ้งหนี้ที่ได้รับมาเป็นที่เก็บเงินรวมๆ กันไว้แล้วทยอยเอาไปฝากก็ได้ แต่ไม่ควรนานเกิน 5 วัน
หากทำได้ตามนี้ เงินที่อยู่ในบัญชีจะชำระหนี้ให้อัตโนมัติ มีแต้มสะสมให้แลกเป็นของใช้ ระหว่างที่เงินในบัญชีรอหักใช้หนี้บัตรเครดิตมันสร้างดอกเบี้ยให้บ้าง (แต่ไม่ต้องไปหวังก็ตรงนี้)

ตัวอย่าง 1 วิธีการสร้างกำไรแบบพองาม

อันนี้มันเป็นความสามารถเฉพาะบุคคล ทำได้ไม่ยาก และต้องวางแผนมากขึ้น มาดูประสพการณ์แบบผมดู
ผมเป็น IT Support มีหน้าที่อย่างหนึ่งในที่ทำงานคือ งานจัดซื้อด้านคอมพิวเตอร์และพวกสิ่งสิ้นเปลืองที่เกี่ยวข้อง (เช่นหมึกสี อะไหล่) ก็มักจะเจอปัญหากับฝ่ายการเงินประจำว่า ต้องหาที่ได้ราคาดี มีระยะเครดิต บางทีทำเรื่องเบิกไปกว่าจะได้เงินก็ช้า (มันเป็นความภาคภูมิใจของฝ่ายการเงินว่า ถ้ารักษาเงินสดไว้ในมือให้ยาวที่สุดเท่าไหร่ยิ่งดี) สิ่งที่ผมทำเพิ่มในขั้นตอนเตรียมการคือ ดุว่ามีบัตรเครดิตใดที่มีโปรโมชั่นผ่อน 0% บ่อยๆ และมีบัตรสินเชื่อเงินสดพร้อมใช้ของเจ้าใหนที่มักมีโปรโมชั่นผ่อน 0% ผมก็สมัครไว้ทั้ง 2 แบบเลย และมีหลายใบด้วย
หลัง ๆ มาก็มีรูดค่าอื่นๆ ทุกค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ก็จะมีผู้รับภาระให้พร้อมกับสร้างแต้มสะสมให้เรา เช่น

  •          ค่าโรงแรมสำหรับแขกของบริษัทบ้าง
  •          ไปจ่ายค่าโทรศัพท์ออฟฟิศ (ยกเว้น True ไม่รับบัตรเครดิตถ้าเป็นเบอร์ขององค์กร)
  •          ค่าใช้จ่ายโทรศัพท์พวก internet phone เช่น skype
  •          ไปจ่ายค่ามือถือให้พรรคพวก (ถ้าศูนย์รับชำระอยู่ในเส้นทางผ่านของเราและเราต้องไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม)


 ตัวอย่าง 2 วิธีการสร้างกำไรแบบขั้นสูง

ยิ่งต้องการกำไร ก็ต้องทำแบบขั้นเทพ คำนวณให้มากและรอบคอบ เมื่อต้องการวงเงินมากแต่เงินเดือนน้อยก็ต้องสมัครบัตรเครดิตหลายใบหน่อย โดยผมสมัครพร้อมกันหลาย ๆ ใบทีเดียวเลย (ผมแค่คิดไปเองว่า ถ้ามีรายงานการใช้จ่ายมากที่เครดิตบูโร อาจจะทำให้ธนาคารไม่พิจารณาการสมัครบัตรก็เป็นได้ แต่จะเท็จจริงอย่างไรผมก็ไม่ทราบ)

สำหรับขั้นเทพที่ขอเล่าก็เช่น
  1. เจ้าของบริษัททัวร์ ให้ลูกค้าโอนเงินจองเข้าบัญชีส่วนตัว จากนั้นก็เจ้าของบริษัทก็เอาบัตรเครดิตตนเองรูดจ่ายกับเรื่องรูดบัตรในบริษัทตัวเอง ผลลัพธ์ได้ 2 เด้งคือ
    1. ตัวเองได้แต้ม เผลอๆก็มากจนแลกตั๋วเครื่องบินได้
    2. บริษัทมี transaction ของเครื่องรูดบัตรเพิ่ม มีโอกาสได้รับพิจารณาในการลดค่าธรรมเนียมการรูดลง (ร้านค้าที่รับบัตรเครดิตจะถูกหักค่าธรรมเนียมประมาณ 1.5 – 3% จากยอดที่รูด)
  2. ผมเองมีเพื่อนเปิดบริษัทส่วนตัวขนาดเล็ก บางครั้งเขาต้องรักษาเงินสดไว้ในมือให้มาก และเขาเองก็ถูกธนาคารปฏิเสธการสมัครใช้บัตรเครดิตเพราะทำกิจการส่วนตัวที่ statement อาจจะยังไม่สวยพอ เขาจะให้ผมช่วยรูดซื้อสินค้าทุนบางรายการ แล้วค่อยมาจ่ายคืน วิธีนี้ต้องระวังดังนี้
    1. ธุรกิจต้องมีลักษณะเงินหมุนแบบรวดเร็ว สินค้าต้องขายได้หมดภายใน 1 เดือนและต้องกำไรประมาณ 2 เท่าของต้นทุนสินค้า (อย่าลืมว่าเขาต้องจ่ายเงินเดือนลูกน้อง)
    2. เพื่อนต้องมีนิสัยรับผิดชอบจริง ๆ หรือรู้จักกันนานจนไว้ใจได้ และร่วมรับผิดชอบในค่าปรับ/ดอกเบี้ยที่อาจจะมี


กำไรที่ได้ตอนนี้
  • บัตร KTC ของผมมีแต้มสะสมร่วม 40,000 ภายใน 7 ปี (เอาไปแลกมื้ออร่อยกับครอบครัวที่ zizler ประมาณ 8,000 คะแนนแล้ว)
  • บัตร BBL มีแต้มสำหรับไปแลกเตาแม่เหล็กไฟฟ้า บัตรกินสุกี้ได้ทั้งครอบครัว บัตรเติมน้ำมัน และตอนนี้ยังเหลือแต้มประมาณ 20,000 (รีบใช้เพราะอายุแต้มมีแค่ 2 ปี) ในช่วง 7 ปี
  • บัตร HSBC ให้บัตรเติมน้ำมันตั้งแต่สมัครผ่าน จากนั้นก็แลกบัตรเติมน้ำมันอีกประมาณ 2,000 บาท บัตรกินสุกี้ได้ทั้งครอบครัว ในช่วง 5 ปี (รอดูว่า ถ้ารวมกับกรุงศรีแล้วก็ยังบริการแย่ ก็จะยกเลิก)
  • บัตร SCB Family ก็เพิ่มยอดเงินฝากบัญชีประมาณ 2,000 บาทในช่วง 3 ปี
  • ล่าสุดเพิ่งสมัครบัตร KBank แค่ 2 เดือน ตอนนี้แต้มทะลุหลัก 1000 แล้ว
  • บัตรแต่ละใบเพิ่มวงเงินให้ผมอัตโนมัติ อับเกรดให้ก็มี ก็ยิ่งมีวงเงินสำหรับทำกำไร
ลองคำนวณเล่นๆ จะเห็นว่า ในแต่ละบัตรมีค่าใช้จ่ายหลักแสนถึงล้าน ลำพังเงินเดือนเราหรือค่าใช้จ่ายส่วนตัวมันเป็นไปไม่ได้หรอกครับ หลักการคือ เพียงแค่ให้เงินมันเดินผ่านเราเท่านั้น เราแทบไม่ได้จ่ายอะไร มันก็ได้กำไรเหมือนเราเก็บค่าผ่านทางยังไงยังงั้น
ลองรูปประกอบ (บางส่วน / รบกวนขยายภาพเอาเองนะครับ) 





ประสพการณ์เลวร้ายที่เจอ
  • บางครั้งการรูดซื้อของให้บริษัทที่ดูแล้วมีความเชื่อถือทางการเงิน แต่บางครั้งเจ้าหน้าที่การเงินก็ทำตัวงี่เง่าเกิน เราต้องทำตัวเป็นคนทวงหนี้เพื่อให้ได้เงินมาจ่ายบัตรเครดิตให้ตรงเวลา ถ้าจ่ายเงินเราช้าจนเกิดดอกเบี้ยหรือค่าปรับ มันคุยกันยากทั้งในแง่บัญชีค่าใช้จ่ายและการร่วมรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่การเงิน
  • ลูกน้องเก่าคนหนึ่ง ขยันทำงาน สนิทสนมกัน ช่วยให้รูดค่าโน่นค่านี่ ก็จ่ายคืนครบถ้วน เราเลยให้บัตรเสริมไปใช้งานเองเสียเลย พอมีอำนาจเซ็นต์เองเท่านั้นแหละครับ คนเรามันเปลี่ยนไปจริง ๆ อุตส่าห์คุยกันเป็นหมั้นเหมาะแล้วว่า ห้ามจ่ายขั้นต่ำ (ดีนะที่ผมยืดรหัสกดเงินไว้แต่แรก) ประเดิมด้วยการไปรูดมือถือใหม่ หลัง ๆ มาก็จ่ายขั้นต่ำจนวงเงินเต็ม ผมเลยต้องลดวงเงินเขาลง หลัง ๆ หนักข้อ ค้างจ่ายติดต่อกัน 2-3 งวดจนบัตรหลักผมจะถูกระงับ ถูกผมต่อว่าจนเกือบเสียคนเสียความสัมพันธ์ ท้ายสุดผมก็ต้องยกเลิกบัตรเขาให้เขาทยอยจ่ายขั้นต่ำ ก็คงจะหมดภายในสินปี 55 นี้
  • ผมยกเลิกบัตร Citibank ด้วยความรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบเกินไปยามเราไม่มีเงินจ่าย บางทีจ่ายช้าแค่ 2 วันก็เจอค่าติดตามแล้ว แถมยังมีวิธีการยืดจำนวนวันให้คิดดอกเบี้ยได้มาก (ลองไปอ่านวิธีการเพิ่มเติมในหัวข้อ เทคนิคการปิดหนี้บัตรเครดิตด้วยสินเชื่อบุคคล) แม้ผมจะได้กำไรจากบัตรนี้ แม้จะโปรโมชั่นดีแค่ไหน ผมก็ขอเลิกคบโดยใช้บริการสินเชื่อบุคคลมาปิดบัตรทีเดียว (ตอนนี้ผ่อนหมดแล้ว เป็นช่วงค่าใช้จ่ายส่วนตัวสูงเพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมช่วงปลายปี 54)
ก็ลองเอาไปเป็นไอเดียประยุกต์ดูนะครับ บางคนอาจจะเห็นจุดโหว่วิธีการผม บางคนอาจจะพบช่องทางหากำไรนอกเหนือจากที่ผมได้แบ่งปันไว้ ก็เอาประสบการณ์มาแบ่งปันกันบ้างนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น