Sponsor Link

วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เป็นหนี้อย่างมีชั้นเชิง ตอน 1/3: "แนวทางลดภาระดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลภาคทฏษฎี"

จั่วหัวข้อเสียขนาดนี้ อย่างเพิ่งคิดว่าผมเป็นนายหน้าค้าแคมเป็ญเงินกู้นะครับ และผมก็ไม่ได้มาแนะนำการชักดาบนะครับ แค่อยากนำเสนอไอเดียสำหรับมนุษย์เงินเดือน เดินดิน กินข้าวแกง อยู่ในยุคที่ข้าวของแพงแซงหน้าเดือนแล้ว ถ้าจะพูดแบบไม่รักษาฟอร์มแล้วละก็ ผมว่าการก่อหนี้เพื่อความอยู่รอดบางครั้งคราว มันเป็นเรื่องที่ต้องทำ

ขอย้ำอีกครั้งว่า ไม่ได้ส่งเสริมก่อหนี้ แต่อยากนำเสนอว่า ถ้าจะต้องเป็นหนี้แล้ว เราต้องใช้มันให้เกิดประโยชน์ที่สุด และหาทางจ่ายดอกเบี้ยน้อยที่สุด และแบบถูกกฎหมายด้วย และไม่ต้องทำ haircut ให้เสียเครดิตแบบไม่จำเป็น

ข้อสังเกตเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้
ไอเดียเรื่องนี้มาจากการรับภาระจ่ายดอกเบี้ยของคน 3 กลุ่มดังต่อไปนี้
1.                  ผู้ประกอบการ เมื่อกู้เงินจากธนาคารมาทำธุรกิจ จ่ายดอกเบี้ยประมาณ 7% แต่ต้องมีหลักทรัพย์ หรือโครงการน่าสนใจจริงๆ
2.                  แรงงานฝีมือชั้นสูง เป็นงานหนัก งานดี มีรายได้สูง ทำบัตรเครดิตได้แน่ๆ โดยจ่ายดอกเบี้ย 20% (แต่ภาคปฏิบัติธนาคารก็รีดดอกเบี้ยทุกเม็ดเท่าที่จะทำได้ ลองอ่านใน เทคนิคการปิดหนี้บัตรเครดิตด้วยสินเชื่อบุคคลดู)
3.                  แรงงานฝีมือชั้นกลาง-ต่ำ ถ้าทำบัตรเครดิตไม่ได้ ก็ยังสามารถกู้สินเชื่อส่วนบุคคลได้ จ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 28%

จะเห็นว่า ยิ่งฐานะทางการเงินต่ำ จะยิ่งถูกโขกดอกเบี้ยสูงขึ้น คนทั่วๆไปจะได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำก็เฉพาะตอนซื้อบ้าน ซื้อรถ เท่านั้น ที่จริงมันมีเหตุผลทางธุรกิจว่า ทำไมดอกเบี้ยบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินมันโหด ลองไปหาในกูเกิลดูครับ

ดังนั้น ถ้าเราประเมินในหัวแล้วพบว่า ชีวิตนี้ยังไงก็ต้องเลี้ยงตัวด้วยเงินเดือนอีกยาวไกล และหากมีเรื่องต้องใช้เงินด่วนทีไร เราก็พึ่งสินเชื่อส่วนบุคคลแน่ ๆ (ตามโฆษณาที่ชักชวนให้ไปกู้เพื่อเห็นแก่ความกตัญญู) ทำไมเราไม่วางแผนรับมือสำหรับการเป็นหนี้แบบมีชั้นเชิงเสียแต่วันนี้ครับ (เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันแบบเข้าใจ)

เพิ่มความน่าเชื่อถือทางการเงินแบบมนุษย์เงินเดือน
แนวคิดหลักของผมคือ ในขณะที่เรายังเป็นมนุษย์เงินเดือน เราต้องเพิ่มความเชื่อถือทางการเงินของเราเพื่อลดภาระการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อส่วนบุคคล อย่างน้อยเราไม่ควรจ่ายเกิน 15% ตามที่กฎหมายกำหนด (เกือบครึ่งหนึ่งที่ผู้ให้บริการสินเชิ่อส่วนบุคคลเรียกเก็บจากเรา) เพื่อความกระจ่างขึ้น กรุณาทำความเข้าใจใน  3 ประเด็นหลัก ดังนี้ครับ

1.                  ความเชื่อถือทางการเงินที่สถาบันการเงินให้ความคำนับคือ ทรัพย์สินที่ไม่เสื่อมค่าง่าย ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บดูแลมาก อันได้แก่ ที่ดิน บ้าน แต่ระดับคนทั่วไปแล้ว อาจจะยังไม่ต้องไปถึงขั้นนั้นครับ
2.                  อย่าคิดว่าในโลกนี้มีจะมีแต่ คุณอ้อน คุณซี่บาย หรือชอยซ์แรก เท่านั้นที่ปล่อยกู้สินเชื่อส่วนบุคคล (แถมไม่รับหลักทรัพย์อะไรเลย) ที่จริงมีสถาบันการเงินอื่นอีกที่เราจะไปขอสินเชื่อส่วนบุคคลที่ยินดีรับเอาทรัพย์ในข้อ 1 ไปเป็นหลักประกันและให้ดอกเบี้ยต่ำ
3.                  หากเราอุตส่าห์หาทรัพย์ตามข้อ 1 ไปค้ำประกันแล้ว หากเรามีเหตุให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้ก้เอาสินทรัพย์ไปขายทอดตลาดจนได้เงินครบถ้วนแล้ว ก็ไม่ควรเอาเราไปอยู่ใน black list ของเครดิตบูโร

จาก 3 ข้อข้างต้น ลองคิดว่า จะมีทรัพย์ใดที่เราจะก่อกำเนิดขึ้นได้จริง เพื่อเป็นต้นทุนในการกู้เงินในยามจำเป็น แล้วมีแหล่งเงินกู้ใดยอมคิดดอกเบี้ยเราต่ำๆ บ้าง ๆ (นอกเหนือจากสถาบันการเงินที่จ้างพริตตี้มาโฆษณาที่เราคุ้นเคย แล้วเขาก็โยนค่าใช้จ่ายมาให้เรา)


เมื่อคิดไว้แล้ว แนะนำให้อ่านตอนต่อไปดูครับ (เป็นหนี้อย่างมีชั้นเชิง ตอน 2/3: แนวทางลดภาระดอกเบี้ยภาคปฏิบัติ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น